วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตรรกะต่างเท้า

Credit: Iris de Paoli
ชื่อเรื่องคราวนี้ – ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ผมจะใช้ “ตรรกะต่างตีน” เพื่อความพ้องเสียง แต่ดูจะไม่สุภาพนัก – มาจากความคิดแวบที่สาม ตอนที่อ่านพบข้อความหนึ่งที่รีทวีต (หรือแชร์ต่อกันมา-สักอย่าง) ในทำนองว่า
             ...เดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นรับคำว่ากิ๊กของเราไปใช้ทับศัพท์กันแล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าโลกเชื่อมต่อถึงกันเร็วขึ้นมากขึ้น ประเทศที่ไม่ยอมเปลี่ยนตามโลกก็คงจะอยู่ลำบากหน่อย...*
            แวบแรกของความคิดก็คือ อืมม์ เป็นการนำเรื่องๆ หนึ่งขึ้นมาเซ็ต แล้วตบให้ลงประเด็นที่ต้องการอย่างเท่ใช้ได้เลยทีเดียว
            แต่แวบความคิดที่สองที่วิ่งสวนมาก็คือ เฮ้ย ไม่ใช่ละ อันนี้มันเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เขารับจากเราไปนี่นา ลูกตบลูกนี้แถพลาดไปโดนเน็ตเห็นๆ เรียกอีกอย่างก็คือ “ตรรกะกลับหัว”
            แวบที่สามของความคิด จึงกลายเป็นคำที่เปรียบเปรยการใช้อวัยวะส่วนที่เอาไว้ใช้คิดมาใช้เดิน แล้วแผลงต่อมาเป็นชื่อเรื่อง ด้วยประการฉะนี้
ถ้าจะถกกันอย่างเป็นทางการและวิชาการ เรื่องนี้คงต้องเริ่มกันตั้งแต่การตั้งคำถามว่า คนญี่ปุ่นรับคำว่า “กิ๊ก” ไปใช้ทับศัพท์จริงหรือ? และเขาออกเสียงว่าอะไร? เริ่มใช้กันแพร่หลายเพียงไรในสังคม-ประเทศของเขา? หรือเพียงใช้เพื่อสื่อสารกับพวกเราคนไทยในประเทศไทย?
            ที่ถามมานั้น ไม่ได้ตั้งใจจะมาจับผิดจับถูกอะไร แต่ผมอยากรู้จริงๆ ในทุกสิ่งที่ผมถามไปนั่นแหละ เพราะผมไม่คิดว่าคนญี่ปุ่นจะออกเสียง “กิ๊ก” ในแบบที่เราพูดกัน แต่อาจจะเป็น “กิ๊กโกะ” หรือ “กิ๊กกุ” สักอย่าง ตามลิ้นของพวกเขา แล้วพอนึกถึง “กิ๊กกุ” ผมก็นึกต่อไปถึงคำว่า “คีปปุ” ซึ่งเคยรู้มาเลาๆ ว่า คนญี่ปุ่นใช้เทียบแทนคำว่ากิ๊ก แต่ไม่ได้มาจากคำไทย มาจากคำว่า keep ในความหมายที่คบหากันอยู่ โดยที่ยังไม่ยกระดับขึ้นเป็นแฟน
            เมื่อหลายปีก่อน – น่าจะเป็นตอนที่คำว่า “กิ๊ก” เริ่มแพร่หลาย – เคยอ่านเจอคำถามว่าจะอธิบายความสัมพันธ์แบบกิ๊กให้คนญี่ปุ่นเข้าใจได้ด้วยคำว่าอะไร ลองกลับไปค้นด้วยกูเกิ้ล ก็พบว่ามีคำถาม-คำตอบเรื่องนี้กันมาตั้งแต่ปี 2547 นอกจากคำว่า keepu ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นเองก็มีทั้งคำว่า aijin, futamatsu, tsukiai hito ซึ่งมีความหมายหนักเบาต่างกันไป ครั้นฝากลูกถามเพื่อนชาวญี่ปุ่น ก็ได้มาอีกคำคือ uwaki
            รู้ไว้ใช่ว่า ไม่ต้องใส่บ่าแบกหาม วางไว้ตรงนี้ก่อนก็แล้วกัน
ในที่นี้ เราจะไม่ถกกันในเชิงศีลธรรม-คุณธรรมเกี่ยวกับ “การมีกิ๊ก” และ “ความสัมพันธ์แบบกิ๊ก” นะครับ แต่ลองมาพินิจตรรกะกลับหัว ในวาทกรรมเรื่อง “กิ๊กกับการปรับตัวของประเทศ” กันสักนิด
            ก็ชัดเจน (ตามที่เขาบอกเอง) ว่าคนญี่ปุ่นรับของเราไป และตรรกะกลับหัวในที่นี้ก็คือการสรุปเอาด้วนๆ (ว แหวน นะครับ ไม่ใช่ สระอา) ว่าเราจำเป็นต้องเปิดรับความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างที่ผมบอกแหละครับ อ่านแวบแรก อาจรู้สึกว่า อืมม์ เท่ใช้ได้ ใครที่เห็นว่าประเทศเราล้าหลังมาก ด้อยพัฒนาเหลือเกิน ก็อาจมีเฮ แต่ถ้าลองใช้สติทวนดูแม้สักแวบ ก็คงเห็นว่านอกจากถ้อยคำที่ประดิษฐ์มารองรับเป้าประสงค์บางอย่าง วาทกรรมนี้ไม่ได้วางอยู่บนฐานของหลักเหตุผล ความสมเหตุสมผล และสามัญสำนึกใดๆ เลย
            ก็ตรรกะแบบไหนล่ะครับ ที่เขารับ (ศัพท์) ของเราไป แล้วแสดงว่าเราต้องเปลี่ยน (สถานะสถาบันกษัตริย์) ตามเขาน่ะ
            ถ้าอย่างนั้น เอาแบบนี้ด้วยเลยไหม การที่คนต่างชาติหลงใหลอาหารไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ มาจนถึงผัดไทย มัสมั่น และสุกี้แห้ง แสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขบทกำหนดโทษคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้ตอบรับกับรสนิยมชาวโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างนัยสำคัญ
            หรือ การที่คนต่างชาติคลั่งไคล้มวยไทย และดื่มด่ำกับกระทิงแดง แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกมาตรา 112 เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบทางการกีฬาและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
            และ การที่คนต่างชาติแห่กันมาเที่ยวถนนข้าวสาร เดินตลาดนัดจตุจักร ช้อปปิ้งที่แพลตินัม ทำให้เราจำเป็นต้องห้ามพระมหากษัตริย์แสดงความเห็นต่อสาธารณะ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว
            ไม่ได้เขียนเอาฮานะครับ เพียงแต่ “ขยายภาพ” ในส่วนของตรรกะให้เห็นว่า ที่เขา “นำเสนอ” กันอยู่ทุกวันนี้ ก็โหวงเหวงไม่ต่างกันนัก และก็ไม่ได้ตีความเกินเลยในส่วนของเป้าประสงค์ของตรรกะ-วาทกรรม เพราะรู้ทันกันอยู่ว่าเป้าหมายสูงสุดของคนเหล่านี้อยู่ที่ระบอบประชาธิปไตย(หรือไม่ใช่ก็ตาม) ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
            และ ที่สุดของการใช้ “ตรรกะต่างเท้า” ตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ การสร้างวาทกรรมที่ว่า จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจาก พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา แสดงว่ามาตรา 112 มีปัญหา จะต้องแก้ไขหรือยกเลิก
เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ผมโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊คว่า
            “...คดีข่มขู่คุกคามประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 400 เปอร์เซนต์ หรือเฉลี่ยวันละ 30 คดี และคดีส่วนใหญ่ดำเนินการในทางลับ แต่ไม่เห็นมีใครในบ้านเมืองเขาบอกว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน
และกฎหมายอาญามาตรา 871 มีปัญหา ต้องยกเลิก...”
            อันนี้เป็นบทสรุปเบื้องต้นของผมจากการค้นหาคดีเกี่ยวกับการข่มขู่คุกคามประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเลือกมานำเสนอเป็นตัวอย่าง 3 คดี คือ คดีที่ ไบรอัน ดีน มิลเลอร์ ถูกลงโทษจำคุก 27 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เพราะการโพสต์ในเว็บบอร์ด ว่า "Obama must die" ถัดมาเป็นคดีที่ จอห์นนี โลแกน สเปนเซอร์ ถูกจำคุกนาน 33 เดือน เพราะเขียนบทกวีแช่งให้ บารัก โอบามา ถูกลอบสังหาร (ตั้งแต่ก่อนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี)
            และตัวอย่างคดีสุดท้าย สตีเวน โจเซฟ คริสโตเฟอร์ ถูกหน่วยสืบราชการลับจับกุมในข้อหาขู่ฆ่าประธานาธิบดีโอบามา (ขู่ในแชตรูม) คดีนี้ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยมีอาวุธหรือไม่ เตรียมการจะกระทำตามคำขู่หรือไม่ ผู้สื่อข่าวก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุย-ซักถามจำเลย และอัยการได้แถลงชัดเจนถึงมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกันระหว่างคดีคุกคามประธานาธิบดีกับคดีทั่วไป สุดท้ายศาลพิพากษาจำคุก 33 เดือน และไม่รับอุทธรณ์
            ผมไม่ต้องการยกกรณีของสหรัฐฯ มาเป็นแบบอย่างของความถูกต้องหรืออะไร เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งประมุขที่มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี เขายังคุ้มครองมาตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และทั้งหมดนี้ก็นำเสนอภายใต้กรอบคิดที่ว่า หนึ่ง-ประเทศต่างๆ ล้วนมีบทบัญญัติคุ้มครองประมุข สอง-การวิจารณ์ กับการกล่าวหา-อาฆาตมาดร้าย แยกกันไม่ยาก ถ้าจะไม่แกล้งโง่กันมากนัก สาม-บทบัญญัติตามกฎหมาย กับกระบวนการทางคดี เป็นคนละเรื่องกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่มั่ว ก็จะไม่เอาข้ออ้างว่ากระบวนการดำเนินคดีมีปัญหามาเป็นเหตุขอแก้ตัวบทกฎหมาย ที่ระบุไว้เพียงว่า "มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"
            ขยายความอีกนิดก็ได้ว่า เพราะโลกไม่ได้แบน ประเทศเอกราชต่างๆ จึงมีจุดเน้นในบทบัญญัติที่คุ้มครองประมุขในแง่มุมที่แตกต่างกันไป มีบทกำหนดโทษที่แตกต่างกันไป และกระบวนการคุ้มครอง-ฟ้องร้องก็แตกต่างกันไปด้วย อีกนัยหนึ่งก็อาจจะพูดได้ว่า คงมีแต่ข้าทาสความคิดนักล่าอาณานิคมกระมัง ที่เห็นว่าการบิดเวลาของมาเลเซียข้ามเขตไปใช้เวลาเดียวกันกับฮ่องกงเป็นมาตรฐานที่ควรยกย่องเทิดทูน
            ที่น่าแปลกใจก็คือ หลังจากที่ตัวอย่างคดีและข้อมูลเหล่านี้ได้รับการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง ผมพบว่าพวกนัก(ชอบอ้าง)กฎหมายประเทศโน้นประเทศนี้มาเปรียบเทียบกับมาตรา 112 จำนวนมาก ไม่เคยรับรู้การมีอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 871 ของสหรัฐฯมาก่อน และนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ก็ไม่เคยตระหนักในขอบเขตอำนาจหน่วยสืบราชการลับ (United States Secret Service) ในภารกิจปกป้องประธานาธิบดีของประเทศที่พวกเขาบูชาว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ
            วิธีที่พวกใช้ตรรกะต่างเท้าพวกนี้ออกมาตอบโต้ข้อมูลชุดดังกล่าว จึงดูจะทำได้แค่ตั้งคำถามทำนองว่า “โง่หรือโง่เนี่ย ของเขามันขู่เอาชีวิต ของเราแค่พูดหมิ่นก็โดนแล้ว” ซึ่งในกรณีที่เกิดกับตัวเอง ผมก็ได้แต่นึกสมเพชกับอาการเก็บหางไม่มิด เพราะในขณะที่เรียกร้องเสรีภาพในการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เมื่อจะกล่าวหาผู้อื่นยังยัดเยียดตัวเลือกแบบเผด็จการเป๊ะ (คือ ถ้าไม่โง่ ก็ต้องโง่ อย่างใดอย่างหนึ่ง) เพราะถ้าเป็นผม ผมจะไม่ยัดเยียดตัดสินใครแบบนี้ เพียงแต่อาจจะนึกสงสัยว่าหน้าตาพวกเขาจะออกไปทางลูกครึ่งแบบ “(มาริ)โอ้ หรือเอี้ย(ก้วย)” กันแน่
            ที่สมเพชกว่าก็คือการออกโรงของ “กูรู” อย่างสมศักดิ์ เจียมฯ ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการหัวเราะเยาะหยันคนที่อ้างข้อมูลชุดนี้ ด้วยคำอธิบายว่า ความผิดตามมาตรา 871 เป็นความผิดฐานขู่ฆ่า (หรือลักพาตัว หรือทำร้ายร่างกาย) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทแบบกรณีมาตรา 112 แต่เพื่อไม่ให้เสียความเป็นกูรู เขาก็ทำการบ้านมาอธิบายเพิ่มอีกนิดหนึ่งว่า “ความผิดนี้ เขาถือเป็น class D felony คือ ความผิดชั้นต่ำสุด ไม่ใช่ความผิดระดับความมั่นคง เหมือน 112 ของบ้านเรา”
            สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสมเพชก็คือ หนึ่ง-เขายังคงไม่เลิกใช้ “ตรรกะถูไถ” ด้วยการทอนคดีความตามมาตรา 112 ให้เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาทล้วนๆ สอง-เขายังคงใช้ “ตรรกะโลกแบน” ว่ากรอบการคุ้มครองประมุขแต่ละประเทศจะต้องเป็นเหมือนกัน สาม-เขาไม่ได้ตอบคำถามที่ใช้ตรรกะเดียวกันกับที่พวกเขาใช้ ว่าทำไมเมื่อจำนวนคดีข่มขู่คุกคามประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ไม่เห็นมีใครในบ้านเมืองเขาบอกว่า กฎหมายอาญามาตรา 871 มีปัญหา ต้องยกเลิก
            สี่-เขาไม่ได้ตอบว่าการเขียนบทกวีให้ประธานาธิบดีถูกลอบสังหารสมควรกับการถูกลงโทษจำคุกเกือบ 3 ปีหรือไม่ ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพของนักเขียนหรือไม่ และเหตุใดนักเขียนอเมริกันจึงไม่ออกมาต่อต้านมาตรา 871 และ ห้า-เขาอวดให้รู้ว่าความผิดตามมาตรา 871 เป็นความผิดชั้นต่ำสุด แต่เขาก็อวดความไม่รู้ของตัวเองไปด้วยพร้อมกันในเรื่องของการดำเนินคดีทางลับ รวมถึงขอบเขตอำนาจและการใช้อำนาจของหน่วยสืบราชการลับ ว่ามันสวนทางกับสิ่งที่ถือว่าเป็นความผิดชั้นต่ำสุดอย่างไร
            สมศักดิ์คงไม่รู้ด้วยว่า การที่เด็กชายวัย 13 ชื่อวีโต ลาพินตา ได้โพสต์ในหน้าเฟซบุ๊คของเขาว่า  การลอบสังหารบิน ลาเดน จะก่อให้เกิดการปฏิกิริยาตอบโต้ตามมา และประธานาธิบดีโอบามาควรจะกังวลกับการแก้แค้นที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่ผิดแปลกอะไรเลย และคนในทำเนียบขาวก็พูดกันแบบนี้) ทำให้ตำรวจลับจู่โจมถึงโรงเรียน วีโตถูกนำออกจากชั้นเรียนไปสอบสวนโดยที่พ่อแม่ไม่ได้รับรู้และให้ความยินยอม ไม่มีทนายร่วมรับฟัง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
            แม้สุดท้ายจะไม่มีการดำเนินคดี แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะการสอบสวนที่ขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิของเด็กได้เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่พวกเขาซุกมันไว้ใต้สิ่งที่เรียกกันว่าขอบเขตอำนาจของตำรวจลับ (หรือเราควรจะเรียกว่า “ล่าแม่มด” ดี?)
อีกตัวอย่างหนึ่ง – ที่สมศักดิ์และใครๆ อีกมาก – ก็คงไม่เคยรู้อีกเหมือนกัน คือกรณีที่สมาชิกพรรครีพับลิกัน ชื่อเจฟฟ์ แรงก์ กับภรรยาชื่อนิโคล สวมเสื้อยืด No Bush ที่เพนท์เอง ไปร่วมงานวันชาติสหรัฐฯ ที่มีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธาน
            ก่อนที่ประธานาธิบดีจะมาถึง ตำรวจลับสองคนสังเกตเห็นและบอกให้ทั้งสองเปลี่ยนเสื้อหรือใส่เสื้อคลุมทับ เมื่อปฏิเสธ สองสามีภรรยาก็ถูกจับใส่กุญแจมือและให้ตำรวจท้องถิ่นนำตัวออกจากงานไปคุมขังอยู่สองชั่วโมงในข้อหาขัดขืนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้น นิโคลก็ถูกพักงานชั่วคราวอีกต่างหากเพราะเธอเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลาง จนกระทั่งคดีสิ้นสุดโดยศาลไม่รับฟ้อง
            อ่านคดีเหล่านี้แล้วผมนึกถึงคนที่อยากให้ยกเลิกมาตรา 112 เพราะต้องการเสรีภาพในการเขียนนิยาย นึกถึงคนที่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เพราะต้องการเสรีภาพในการข้ามถนนตอนที่มีการกั้นรอขบวนเสด็จฯ นึกถึงพวกที่เห็นว่าข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและแสดงความอาฆาตมาดร้ายตามหน้าเฟซบุ๊คและเว็บบอร์ดเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต และนึกถึงพวกที่เห็นประเทศไทยเป็นเกาหลีเหนือแห่งอุษาคเนย์
            อยากให้พวกเขาได้เกิดใหม่ในอเมริกา ได้ใช้เสรีภาพในการดูหมิ่นดูแคลนประมุขของสหรัฐฯ กันให้สาสมใจ ไม่มาเสียเวลาสำเร็จความคิดด้วยตัวเองไปเปล่าๆ อย่างนี้เลย-จริงๆ
#
9 มกราคม 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555)

___________________________________
*ต้องขออภัยที่ผมนำข้อความนี้มาอ้างโดยไม่เหลือความจำใดๆ ให้เป็นเครดิตกับผู้เขียนหรือกระทั่งผู้ที่แชร์ต่อ ทวีตต่อกันมา เพราะนอกจากปัญหาความจุของ RAM ในสมองผมเอง (ดังที่เคยบอกกล่าวกันมาแล้วหลายครั้งในคอลัมน์นี้) กระบวนการทำซ้ำในการสื่อสาร-เผยแพร่ในยุคของ Social Media ยังไหลหลากจนยากแก่การทวนขึ้นไปค้นหาต้นสายที่มาได้ดังใจคิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น