วันนี้ (26 ก.ค. 2555) ดูจะเป็นวันที่มีการชื่นชมเฉลิมฉลองกันเอิกเกริกเบิกบาน
ผมเองก็อยากจะมีส่วนร่วมกับเขาบ้าง
แต่ครั้นจะคิดใหม่เขียนใหม่ ก็คงจะไม่ทัน(ทั้ง)การณ์และกาล
ข้อเขียนชิ้นนี้แม้จะเก่าไป(ไม่)หน่อย เพราะเขียนไว้ตั้งแต่ปลายปี 2548
แต่ก็ภูมิใจนำเสนอด้วยความจริงใจอย่างยิ่งยวด
๐
จู่ๆ “ฟักแม้ว” ก็กลายเป็นพืชผักสวนครัวยอดนิยมขึ้นมาในทันทีทันใด
ด้วยพื้นภูมิความรู้ทางพืชผักที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย แรกที่เห็นเขาจ่ายแจกกันให้ทั่วไปหมดเมื่อตอนต้นเดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2548) ผมก็ยังงงๆ อยู่ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ พอดูยอดชัดๆ ถึงได้เข้าใจว่า น่าจะเป็นผักอย่างเดียวกับที่เคยเอายอดมาต้มมาลวกกินอยู่บ่อยๆ แต่รู้จักในชื่อ “มะระแม้ว”
คุณสมบัติขี้สงสัยที่ติดตัวมาแต่เกิด เดือดร้อนตัวเองต้องหาทางทำความรู้จักกับเจ้าผักชื่อน่าชังชนิดนี้ให้มากกว่าที่เคยเด็ดยอดกินสักหน่อย ที่ว่าน่าชังก็เพราะทั้งฟักทั้งมะระไม่เคยเป็นผักในสารบบการกินของผม ฟักนั้นนานๆ จะกินสักชิ้นเวลาที่ลอยมาในน้ำซุปข้าวมันไก่ แต่รสขมของมะระนั้นเกินจะรับจริงๆ
ส่วนแม้วในความหมายดั้งเดิมไม่เคยรู้สึกเป็นคำน่าชังประการใด สมัยหนึ่งยังเอามาใช้เป็นคำขยายของคำว่า “เดี๋ยว” พอขำๆ เช่นเวลาใครบอกว่าเดี๋ยวได้ เดี๋ยวมา แล้วต้องรอกันเป็นค่อนวันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ (อย่างเช่นกำหนดนัดส่งต้นฉบับคอลัมน์นี้) ก็จะเรียกว่า “เดี๋ยวแม้ว”
![]() |
Oops! this photo link appears to be error |
มาปีหลังๆ นี้เอง ที่คำว่า “แม้ว” ในอีกความหมายหนึ่งที่เจาะจง ให้ความรู้สึกน่าชัง แต่ไม่ได้น่าชังแบบที่คนโบราณเคยชมเด็กๆ ว่า “น่ารักน่าชัง” ตามคติที่กลัวว่าผีปีศาจจะมาเอาตัวไป แต่เป็นน่าชังที่เต็มความหมาย และหลายคนก็คงอยากให้ปีศาจเอาตัวไปเสียที
ถามว่าปีหลังๆ นี่ปีไหน สำหรับผม – ซึ่งมักจะหลงปีพ.ศ.เสมอ คงต้องตอบโดยอ้างอิงตามเหตุการณ์ว่า – ตั้งแต่ปีที่มีใครสักคนคุยโม้เรื่องจะแก้ปัญหาจราจรในหกเดือน หรือไม่ก็ปีที่มีหัวหน้าพรรคไหนสักพรรคโกหกรายวันเรื่องการเลือกตัวแทนพรรคเข้าชิงผู้ว่า กทม. สองเหตุการณ์นี้อยู่ปีเดียวกันหรือเปล่าก็จำไม่ได้จริงๆ
ต้องลองไปถามอดีตผู้ว่าฯ-คุณกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
๐
สำหรับผู้ที่ความรู้ทางพฤกษศาสตร์อยู่ในชั้นอนุบาลเหมือนผม ลองมาทำความรู้จักพืชผักชนิดนี้ก็คงไม่ถึงกับเปลืองเวลาเปล่า
มะระแม้ว หรือฟักแม้ว มีชื่ออีกหลายชื่อ บางที่เรียกมะระหวาน บางคนก็เรียกมะเขือเครือ หรือถ้าจะให้หรูหน่อย ก็มีคนเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า chayote ซึ่งพอถอดเสียงมาได้คล่องลิ้นคล่องปากว่า “ชาโยเต้” ทำให้คนคิดว่าเป็นภาษาแม้วไปเลยก็มี ดิคชันนารีภาษาอังกฤษแบบอเมริกันข้างๆ ตัวผม บอกว่าเป็นพืชผักพื้นเมืองในเขตร้อนชื้นบ้านเขา แต่บ้านเรามีที่มาจากผักพื้นบ้านของชาวเขาที่ปลูกกันตามดอย
ฟักแม้วเป็นพืชผักตระกูลแตง เข้าใจว่าชื่อเดิมที่เรียกกันแพร่หลายมาก่อนคือมะระหวาน เพราะผลมีรูปร่างหน้าตาคล้ายมะระ แต่มีรสหวาน จึงเรียกกันไปตามนั้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก จนเมื่อชาวเขาเอาพืชผลมาขายให้นักท่องเที่ยวกันเป็นล่ำเป็นสัน ตามที่บางแหล่งข้อมูลระบุว่าในช่วงปี 2542 จึงเป็นที่มาของชื่อมะระแม้ว ซึ่งเข้าใจว่าเรียกโดยอิงกับเผ่าที่ปลูกที่ขาย คล้ายๆ กับพริกรสจัดจ้านที่เราเรียกกันว่าพริกกะเหรี่ยง แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีบางคนเรียกว่าฟักแม้ว แล้วก็กลายเป็นคำที่นิยมเรียกกันติดปากมากกว่า ทั้งที่รูปทรงและผิวภายนอกดูยังไงก็ไม่ชวนให้โยงไปถึงฟักสักเท่าไหร่
เขาบอกว่าทางใต้แถวยะลา ก็มีการปลูกมานานแล้วเหมือนกัน แต่ลักษณะผลต่างจากพันธุ์ที่ปลูกกันทางเหนือ คือมีผิวเรียบกว่า ร่องลายบนเปลือกไม่ลึก เข้าใจว่ามีต้นพันธุ์มาจากมาเลเซีย
โดยความที่ระบบข้อมูลของฝรั่งตะวันตกเขาดีกว่าเรา ฟักแม้วจึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เขาอ้างได้ว่ามีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง แถวๆ คอสตาริโก กัวเตมาลา เม็กซิโก และบางพื้นที่ในอเมริกา อันนี้ก็ว่ากันไป เพราะเราไม่มีข้อมูลแบบนี้ แล้วก็บอกกันได้แค่ว่า “ประเทศไทยรับเอาฟักแม้วมาปลูกเมื่อใดไม่มีบันทึก” โดยไม่เผื่อสักนิดว่าอาจเป็นพืชผักท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลก็เป็นได้
เช่นเดียวกับผักอื่นๆ ที่พอเริ่มเป็นที่นิยมก็มีการขยายพันธุ์ กระจายพื้นที่ปลูก ประกอบกับเป็นพืชผลที่ปลูกเลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตทั้งปี จากบนดอยก็เริ่มกระจายมายังพื้นราบทางภาคเหนือและอีสานตอนบนที่มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิเหมาะสม แต่ในระยะหลังเริ่มปลูกกันทางภาคกลางด้วย จังหวัดที่ร้อนตับแลบอย่างกาญจนบุรีก็มีปลูก ระยะหลังทั้งยอดทั้งผลจึงหากินหาซื้อได้ง่ายขึ้น ทั้งตามร้านอาหาร ตามตลาดใหญ่ๆ และซูเปอร์มาร์เก็ต
คุณสมบัติที่ทนทานต่อโรคและแมลง ทำให้ฟักแม้วมีความเสี่ยงต่อสารพิษจากยาฆ่าแมลงต่ำ จึงอินเทรนด์ไปกับยุคเห่ออาหารสุขภาพและปลอดสารพิษ ทั้งที่เวลาเราจ่ายเงินแพงกว่าสำหรับซื้อผักแต่ละชนิดที่ติดตราว่า “ปลอดสารพิษ” เราแน่ใจไม่ได้หรอกว่าจริงตามนั้นหรือเปล่า แล้วก็หวังพึ่งหน่วยงานไหนไม่ได้ด้วย แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้คนหนึ่งบอกว่า ไร่สวนข้างๆ โรงงานของเขาที่เพชรบุรี ฉีดยาฆ่าแมลงกันทุกวัน แล้วก็ส่งขึ้นรถไปขายภายใต้ตราปลอดสารพิษทุกวันเหมือนกัน
๐
ผมไม่เคยลองกินผลฟักแม้ว ด้วยเหตุผลที่บอกไปแล้ว แม้มีคนบอกว่ามันหวาน ไม่ขม แต่ผมก็ไม่ชอบพืชผักรสหวานอีกนั่นแหละ นอกจากนี้เมนูที่นิยมทำกันประเภท ฟักแม้วผัดไข่ แกงจืดฟักแม้ว แกงส้มฟักแม้ว ไม่ใช่อาหารที่ผมนิยม
แต่เพราะเป็นพวกเกลียดตัวกินไข่ (ในทำนองเดียวกับที่แอนตี้ AIS แต่ตัดใจยกเลิกเบอร์สวยๆ ไม่ลง) ยอดมะระแม้วหรือยอดฟักแม้ว จึงเป็นผักโปรดชนิดใหม่ที่มาแรงมาก ปกติผมเป็นคนที่กินผักสด หรือเอาไปยำแทนผักบุ้ง แทนยอดมะพร้าวก็เข้าที แต่ถ้าจะต้ม จะลวก ก็อย่าให้ถึงกับสิ้นความกรุบกรอบ ยอดฟักแม้วในมื้ออาหารนอกบ้านของผมจึงมักจะอยู่ในหม้อสุกี้
ทั้งยอดและผลของฟักแม้วให้คุณค่าทางอาหารสูง ที่มีมากก็คือแคลเซียม วิตะมินซี และฟอสฟอรัส จึงถือเป็นผักทางเลือกแทนผักใบเขียวอื่นๆ ที่อาจจะกินกันมาจนเบื่ื่อแล้ว ทั้งเป็นผักแนะนำสำหรับผู้ที่ล่วงเข้าวัยที่มีปัญหาเรื่องกระดูก รวมทั้งป้องกันโรคใหม่ๆ ที่ผมเพิ่งได้ยินมาสักปี-สองปีนี้เอง คือโรคขาดฟอสฟอรัส ได้ยินแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องถามว่า มันเป็นการ “แตกแบรนด์” เพื่อสร้าง “ตลาดใหม่” ใน “ธุรกิจสุขภาพ” หรือเปล่า
๐
สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน (2548) ที่เขาแจกจ่าย “ฟักแม้ว” กันเอิกเกริก มันเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งตามสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงที่ฟักแม้วได้ราคา เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบน้ำพอสมควร เมื่อเข้าช่วงแล้งพืชผลคงจะน้อยลงและไม่สวยเท่า ยอดฟักแม้วก็เช่นกัน เท่าที่กินมาพบว่าอวบงามสมบูรณ์เป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน
มีคำอธิบายว่า ภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการที่ตลาดกลางรับซื้อพืชผลหลายแห่งเริ่มมีการตีกลับฟักแม้วจำนวนมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในความปลอดภัย เกรงว่าฟักแม้วที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในช่วง 5 ปีมานี้ปนเปื้อนสารพิษตามที่เคยมีรายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการมาแล้วเป็นระยะๆ เพียงแต่ที่ผ่านมายังเป็นการตั้งสมมติฐานจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนจำกัด และการสะสมของสารพิษตกค้างในร่างกายผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มากพอที่จะแสดงอาการ ยกเว้นในผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีไม่มากนัก และมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาเฉพาะบุคคลในกลุ่ม “ภูมิต้านทานสารอาหารในฟักแม้วต่ำ”
การขยายพื้นที่ปลูกออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเมื่อต้นปีนี้ ทำให้มีผู้บริโภคมีโอกาสบริโภคฟักแม้วมากขึ้น ปริมาณสะสมของสารพิษตกค้างจึงเพิ่มถึงขีดที่ก่อให้เกิดอาการแสดงในผู้บริโภควงกว้างขึ้น รายงานการตรวจพบสารพิษในฟักแม้วครั้งหลังสุดที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครวรรค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. (2548) ได้สร้างความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในหมู่ผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายในตลาดครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี แม้ในกลุ่มนักบริโภคที่เคยเชื่อว่าจะไม่เหลือสารพิษตกค้าง หากผ่านการล้างจนสะอาด หรือนำไปปรุงด้วยความร้อน
มีรายงานจากหลายพื้นที่ว่า เกษตรกรผู้ปลูกได้เร่งเด็ดยอดเด็ดผลส่งขายให้กับตลาดที่ยังรับซื้ออยู่ ก่อนที่ราคาจะตกไปกว่านี้ และมีแนวโน้มว่าเกษตรกรอาจจะเลิกปลูกฟักแม้วต่อไปหลังจากหมดช่วงอายุของรุ่นที่ให้ผลในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่ยังรอผลสรุปยืนยันจากนักวิชาการเกษตรที่ยังคงถกเถียงกันบนสมมติฐานต่างๆ ว่า สารพิษในฟักแม้วเกิดจากกระบวนการขยายพันธุ์ที่ผิดพลาด หรือเกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรม หรือกลายพันธุ์โดยธรรมชาติจากสภาพดินและการบำรุงดิน หรือเป็นปฏิกิริยาเคมีต่อการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช เนื่องจากสารตกค้างที่พบยังไม่เคยในพืชผักชนิดใดมาก่อน แม้จะมีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับที่เคยพบในผักบางชนิดในอดีตก็ตาม
นักวิชาการเกษตรบางคนบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่สาเหตุจะเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน และการตัดสินใจของเกษตรกรในบางพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรและอุทัยธานีน่าจะเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ปลอดภัยที่สุด
โดยการรื้อถอนทำลายทั้งรากทั้งโคนให้หมดแปลงไปเลย
#
2 พฤศจิกายน 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2548)
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนหลังจากได้ยิน "คมวาทะ" ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548 หลังจากพรรครัฐบาลพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดพิจิตรและอุทัยธานี ความว่า...
ตอบลบ"นครสวรรค์ได้มอบความไว้วางใจให้กับรัฐบาล ด้วยการเลือกส.ส.รัฐบาลทั้งจังหวัด แน่นอนครับอันนี้ก็ตรงไปตรงมา ก็ต้องได้รับสิทธิในการที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษก่อนนะครับ อันนี้ ผมตรงไปตรงมา ผมไม่อ้อมค้อม นะครับ จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษนะครับ อันนั้นก็เป็นเรื่องที่... แต่เราก็ต้องดูแลคนทั้งประเทศ แต่จังหวัดไหน เวลามันจำกัด ก็ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่ไว้วางใจเราเป็นพิเศษก่อน จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยก็ไปทีหลัง ไม่ใช่ไม่ไป แต่ไปทีหลัง ก็เรียงคิว ต้องเรียงกัน"