คนบางคนบอกว่าพวกเขาไม่ใช่ “สุนัขข้างถนน” ขณะที่อีกคนพยายามจะบอกให้รู้ว่าเขา “เป็นเสือ ไม่ใช่หมา” เพราะหมาอาจจะกัดปลายไม้ที่ใช้แหย่ แต่เสือจะกัดผู้ที่ใช้ไม้นั้น
![]() |
ภาพประกอบ: มนูญ จงวัฒนานุกูล |
เสือย่อมเป็นเสือ และหมาก็ย่อมเป็นหมา ไม่เคยเป็นปัญหาต่อการแยกแยะ แม้อาจจะเคยปรากฏเรื่องในทำนอง สุนัขจิ้งจอกภายใต้หนังคลุมของราชสีห์ แต่ก็ไม่อาจตบตาใครได้ ประเด็นจริงๆ อาจเป็นเพียงการสงสัยเปรียบเปรย ยามเมื่อเห็นเสือที่ทรงพลังอำนาจบางตัวได้แสดงท่าทีดุจดังสุนัขจิ้งจอก (แต่คงไม่มีใครสับสนถึงขนาดเห็นเป็นหมาข้างถนน) ที่คอยตามหลังเป็นบริวารของเสือตัวที่ใหญ่กว่าในการล่า
และยามเมื่อเห็นพญาเสือเจ้าป่า - ซึ่งนอกจากจะสามารถสยบเสือด้วยกันเป็นบริวาร ยังสามารถสยบมวลสิงห์ กระทิง แรดได้อยู่ โดยไม่ต้องนับรวมฝูงหมาจิ้งจอกที่สมัครใจรับใช้อยู่เป็นพรวน - ไม่กล้าสู้เผชิญอย่างซึ่งหน้าแม้กับหมาป่า
หมามีหลายชนิด เสือก็มีหลายพันธุ์ สัญชาตญาณแรกต่อไม้แหย่ของสัตว์ประเภทเดียวกันอาจแสดงออกคล้ายกัน แต่ใช่ว่าหมาบางจำพวกไม่สามารถแยกแยะเป้าหมายที่จะตอบโต้ ในขณะที่เสือบางพรรค์ก็นิยมการกัด/ฆ่าลับหลัง
แชร์คานเป็นเสือประเภทนั้น
๐
ใน ‘The Jungle Book’ ทั้งสองเล่ม รัดยาร์ด คิปลิง ใช้ประสบการณ์และจินตนาการของเขานำผู้อ่านไปยังชีวิตที่เข้มข้นในพงไพรอย่างมีชีวิตชีวา แม้โลกของวรรณกรรมจะไม่ใช่สิ่งที่ใช้วัดความจริงทั้งหมด แต่เรื่องของเมาคลีลูกหมาป่า กับสรรพสัตว์แถบเทือกเขาเซโอนี ก็ให้ความรู้สึกสมจริงกระทั่งสามารถสร้างและเปลี่ยนการรับรู้ที่เรามีต่อธรรมชาติสัตว์หลายชนิดได้
ก่อนการปรากฏตัวตอนต้นเรื่อง ข่าวการข้ามเขตของ “พญาเสือโคร่งผู้มีนามว่า แชร์คานผู้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มน้ำคงคา” มาถึงก่อนแล้ว โดยคำบอกเล่าของหมาจิ้งจอกตาบากี แต่ความยิ่งใหญ่ของเสือก็ถูกลบลายตั้งแต่แรกเปิดตัวด้วยความกล้าหาญของหมาป่าสองตัว
รัดยาร์ด คิปลิง ทำให้ความโหดร้ายของหมาป่ากลายเป็นสัญชาตญาณธรรมดาของการมีชีวิตรอด และเติมด้านที่ทะนงองอาจเข้าไป โดยผ่านทางความสัมพันธ์กับเมาคลี-ลูกมนุษย์ที่เติบโตมาในฝูงของพวกมัน พ่อหมาป่าประกาศอย่างกล้าหาญตั้งแต่แรกพบเด็กน้อย และพญาเสือโคร่งแชร์คานตามมาทวงเอาเหยื่อของมัน ว่า “พวกเราหมาป่าเป็นพวกอิสระ พวกหมาป่าจะยอมเชื่อฟังก็เฉพาะคำสั่งของหัวหน้าฝูงเท่านั้น เราจะไม่ยอมฟังคำสั่งของเสือกินวัวตัวไหนเป็นอันขาด” และแม่หมาป่าก็สำทับว่า “เด็กคนนี้เป็นลูกของข้า ใครจะมาทำร้ายมันไม่ได้”
ความกล้าหาญของหมาป่าอาจมีเงื่อนไขที่ความได้เปรียบของชัยภูมิ เพราะมันอยู่ในถ้ำที่เสือร้ายเพียงยื่นหัวเข้าไป แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ได้เกรงกลัวล่วงหน้าต่อโอกาสที่จะเผชิญกันอีก ในขณะที่แชร์คานก็ไม่เสี่ยงมุดเข้าไปในถ้ำแคบที่มันอาจเสียเปรียบ ได้แต่ขู่ ด่าทอ อาฆาต และงุ่นง่านกลับไป
เมื่อที่ประชุมฝูงหมาป่ารับเมาคลีเข้าฝูงเสมือนดังลูกหมาป่าตัวหนึ่ง โดยมีผู้รับรองตามกฎ แชร์คานซึ่งไปทวงสิทธิ์ของมันอีกครั้งก็ได้แต่คำรามอย่างโกรธแค้น แม้จะถือว่าเป็นการหยามน้ำหน้ามันอย่างรุนแรง
แชร์คานไม่ใช่เสือกระดาษที่ไร้เขี้ยวเล็บ สัตว์ป่าน้อยใหญ่กลัวความร้ายกาจของมัน แต่ไร้ความเคารพยำเกรง แม่หมาป่าเอ่ยปากตั้งแต่แรกได้ข่าวการข้ามเขตหากินของแชร์คานว่า “ไอ้เสือโคร่งตัวนี้ฉันรู้จักมันดี แม่ของมันเรียกมันว่า ‘ไอ้ขาเป๋’ เพราะมันขาเป๋เดินกะเผลกๆ มาแต่กำเนิด มันไล่ฆ่าใครไม่ใคร่ทัน จึงต้องคอยแต่ไปขโมยวัวควายที่เชื่องๆ ของชาวบ้านมาเป็นอาหาร” มันเคยฆ่าคนก็จริง แต่ด้วยวิธีที่พญาช้างสารหัตถีบอกว่า “เป็นการฆ่าลับหลังทั้งสิ้น” และคำเตือนของเสือดำบาเกียร่าต่อเมาคลีก็คือ “เจ้าเสือโคร่งขาเป๋ไม่กล้าทำอันตรายเจ้าซึ่งๆ หน้าหรอก”
ความอาฆาตของแชร์คานไม่เคยจางหายไปไหน แต่มันไม่ได้ใช้วิธีการสมศักดิ์เสือ เพื่อเล่นงานเมาคลี มันใช้วิธีการของหมาจิ้งจอกอย่างตาบากีที่คอยรับใช้มัน ผูกมิตรตีสนิทกับหมาป่าบางตัว ถึงกับแบ่งปันอาหารให้ในบางโอกาส และยุยงหมาป่าฉกรรจ์เหล่านั้นให้วางแผนโค่นอาเคล่าหัวหน้าฝูง ด้วยเชื่อว่าเมื่อขาดผู้รักษากฎ เมาคลีก็จะเป็นของมัน
อาเคล่าเป็นหมาป่าตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาขับเน้นความแกร่งทรนงของหมาป่าอิสระ ที่ไม่ยอมก้มหัวให้อำนาจพาลของเจ้าป่า เมื่อมันเสียรู้ลูกฝูงที่ถูกแชร์คานยุยง ไม่อาจสังหารสมันที่พวกนั้นไม่ได้ต้อนจนอ่อนแรงเสียก่อน มันก็ยอมรับกฎของการเปลี่ยนจ่าฝูง แต่กลับไม่มีหมาป่าตัวใดกล้ารับคำท้าทายที่จะทำให้มันเป็น ‘หมาป่าตายแล้ว’ ตามกฎนั้น กลับเป็นแชร์คานที่ถูกเมาคลีดึงหนวดและใช้ดุ้นไฟเคาะหัว โดยไม่กล้าตอบโต้
แชร์คานยังตามจองเวรเมาคลีแม้เมื่อเขาไปอยู่ร่วมกับมนุษย์ และวาระสุดท้ายของมันก็จบลงด้วยการถูกถลกหนังไปกางปูบนแท่นหินแห่งผาประชุม ที่อาเคล่าเคยนั่งในฐานะหัวหน้าฝูง
๐
บาเกียร่าเป็นภาพเปรียบเทียบของเสือที่สมเสือ รัดยาร์ด คิปลิง บรรยายไว้ว่า “หมาป่าทั้งหลายรู้จักมันดี และไม่มีใครกล้าดูหมิ่น มันมีความฉลาดไม่แพ้ตาบากี-หมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ กล้าเหมือนควายเถื่อน ถ้าถึงคราวต่อสู้ ก็จะต้องสู้อย่างดุเดือดเหมือนช้างถูกเจ็บ”
บาเกียร่าซื้อชีวิตของเมาคลีด้วยวัวป่า เพื่อให้ที่ประชุมหมาป่ารับเมาคลีเข้าฝูง และคอยปกป้องเมาคลีตลอดมานับจากนั้น มันเป็นเสือที่งำประกาย แต่สัตว์ทุกตัวยำเกรง-แม้แต่แชร์คาน เป็นเสือที่กล้าหาญดุร้าย แต่ไม่เคยแสดงความยโสโอ้อวดแบบเสือโคร่งตัวนั้น เป็นเสือที่ล่าเพื่อเป็นอาหาร ไม่ใช่แสดงอำนาจ เป็นเสือที่เคารพกฎและรักษาสัตย์ โดยไม่ยอมให้ใครตัวไหนมาละเมิด ครั้งหนึ่งเมื่อเมาคลีฝ่ากฎ มันก็จำใจลงโทษลูกมนุษย์ที่มันแสนจะเอ็นดู
ในปีที่แห้งแล้งที่สุด แม่น้ำคงคาแห้งงวดเป็นลำธารเล็กจนกระทั่งเห็นแนวหินยาวกลางแม่น้ำที่เรียกกันว่า “แนวหินสันติ” กฎแห่งป่าได้บัญญัติว่า เมื่อเห็นแนวหินนี้ถือเป็นเวลาแห่งสันติ จะมีการล่า-ทำร้ายกันบริเวณแม่น้ำนี้ไม่ได้ เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่สัตว์ทุกชีวิตควรจะได้แบ่งปันกันอย่างปลอดภัย
เวลาที่แร้นแค้นเช่นนั้น บาเกียร่าต้องไปขโมยวัวชาวบ้าน ซึ่งไม่มีกฎห้าม เพียงแต่มันไม่ทำในยามปกติ ประเด็นสำคัญคือ แม้พบเหยื่อให้ล่า มันก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะไล่กวด ส่วนวัวตัวนั้นถูกผูกไว้กับหลัก ถึงอย่างนั้น บาเกียร่าก็รู้จักระงับใจจากพวกกวางริมแม่น้ำ ด้วยความเคารพกฎแห่งป่า จนกว่าความแห้งแล้งผ่านพ้นไป
๐
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ค่อนข้างกระจ่าง ว่าเหตุใดเมื่อ 99 ปีก่อน ลอร์ดโรเบิร์ต บาเดน-เพาเวลล์ ผู้ก่อตั้งลูกเสือโลก จึงขออนุญาตรัดยาร์ด คิปลิง นำเรื่องของลูกคนที่เติบโตมากับฝูงหมาป่าไปให้ลูกเสือทั่วโลกได้อ่าน
ความฉลาดอาจหาญของเมาคลี ความทรนงของอาเคล่า ความน่ายำเกรงของบาเกียร่า ความรอบรู้ของหมีบาลูผู้เป็นครูฝึกลูกหมาป่า เป็นแบบอย่างในการปลูกฝัง-พัฒนาเยาวชนทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ในขณะที่ความแตกต่างหลากหลายของสรรพสัตว์ ทั้งลักษณะ สัญชาตญาณ นิสัย พฤติกรรม เป็นบทเรียนการจำแนกความกล้าจากความขลาด ความองอาจจากความยโส ความฉลาดจากเล่ห์ลวง ความซื่อสัตย์จากความกลอกกลิ้ง ความยำเกรงจากความหวาดกลัว คุณธรรมจากความชั่วร้าย และที่เหนืออื่นใด คือกฎของป่า
หมีบาลูเคยบอกกับเมาคลีว่า “กฎของป่า...มันก็เหมือนกับเถาวัลย์ยักษ์ที่ผูกมัดสัตว์ทุกตัวไว้ โดยไม่มีการยกเว้น เมาคลี ต่อไปเจ้าจะได้รู้ว่าทุกชีวิตต้องอยู่ภายใต้ระเบียบแบบแผนและกฎเกณฑ์อันดี งาม”
กฎของป่าเป็นกฎธรรมชาติสำหรับการมีชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างสรรพสัตว์ เป็นธรรมดาของสัตว์กินเนื้อที่สัตว์ใหญ่ล่าสัตว์เล็ก สัตว์ดุร้ายล่าสัตว์อ่อนแอ แต่กฎหนึ่งของการล่าได้กำหนดชัดเจนว่า “จงล่าเถิดเพียงเพื่อเป็นอาหาร แต่อย่าไล่ฆ่าเล่นเป็นการสนุก”
สัตว์แต่ละชนิดยังมีกฎเฉพาะของมัน กฎข้อหนึ่งของฝูงหมาป่าคือ ตราบใดที่ลูกหมาป่าไม่เคยกัดกวางตาย จะยังถือว่าเป็นลูกหมา ถ้าหมาป่าตัวไหนฆ่าลูกหมาตาย ก็จะถูกลงโทษถึงตายเช่นกัน นี่คือกฎเพื่อคุ้มครองชีวิตที่ยังเล็กและอ่อนแอ
อีกกฎหนึ่งที่เมาคลีเรียนรู้จากหมีบาลู คือ “เท้า...ต้องวิ่งไม่ให้มีเสียง ตา...ต้องหัดมองให้ได้ดีในที่มืด หู...จะต้องฟังรู้กระแสลมได้แต่ไกล ฟัน...จะต้องขาวคมอยู่เสมอ” เป็นกฎของการล่าและมีชีวิตรอดจากการถูกล่า ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญต่างภาษาของ Boy Scout นานาประเทศที่มีความหมายตรงกันว่า “Be Prepared”
สำหรับลูกเสือไทย ภายใต้คติพจน์ “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ที่ยึดถือมาแต่ต้น เมื่อประกอบกับการใช้สัญลักษณ์รูปหน้าเสือวางกลางเครื่องหมายสากลรูปดอกไอริส ความหมายของ ‘ลูกเสือ’ ผู้ซึ่ง “มีเกียรติเชื่อถือได้” ตามกฎข้อที่หนึ่ง ย่อมต้องหมายถึงเสือและเกียรติที่สมศักดิ์เช่นดังเสือดำบาเกียร่าผู้น่ายำเกรง
ไม่ใช่เสือพรรค์ที่เลียนวิธีการจากหมาจิ้งจอก และขลาดกลัวการเผชิญซึ่งๆ หน้า อันควรแก่การหมิ่นแคลน
#
Rhymes to learn
- ‘The Jungle Book’ เป็นงานที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งของ รัดยาร์ด คิปลิง (ค.ศ.1865-1936) กวีและนักเขียนรางวัลโนเบลชาวอังกฤษ ความคุ้นเคยและประสบการณ์จากการเกิดในอินเดีย และกลับไปทำงาน-ใช้ชีวิตที่นั่นอีกครั้งในวัยหนุ่ม เป็นที่มาของ ‘เมาคลีลูกหมาป่า’ (องค์การค้าของคุรุสภา, 2517) ซึ่ง สว่าง วิจักขณะ ครั้งที่เป็นกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ แปลจาก ‘All The Mowgli Stories’ เข้าใจว่าเป็นฉบับพิมพ์ที่รวม ‘The Jungle Book’ เล่ม 1 และ 2 ไว้ด้วยกัน โดยตัดบทกวีและตอนที่ไม่เกี่ยวกับเมาคลีออกไป
#
14 พฤษภาคม 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น