“ในทางจิตวิทยาของอาชญากรนั้น คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายใด แสดงว่าเขาอยากทำผิดกฎหมายนั้น เช่น คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายฆ่าคน แสดงว่าเขาอยากฆ่าคนโดยไม่มีกฎหมายห้าม”
ข้อความ “โดนใจ” ข้างต้น ผมยกมาจากบทความเรื่อง “คณะนิติราษฎร์..ผลไม้พิษของฮิตเล่อร์??” ของ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่ออกมาโต้แย้งกับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้ลบล้างผลพวงของการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ทั้งพ่วงเอาข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวญกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ไว้ด้วย และข้อความที่ผมยกมาก็คือการตีตรงเข้าประเด็นนั้น
![]() |
Credit : http://www.flickr.com/photos/waterbug49307/5507017226/ |
ที่ต้องใช้คำว่า “โดนใจ” ก็เพราะเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ตอนที่เขียนถึงกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ในบทความเรื่อง “See Through” ลงคอลัมน์นี้ (“สีสัน” ปีที่ 22 ฉบับที่ 9) คนที่ไม่ได้เรียนมาทางกฎหมาย (อย่างผม) ก็ขมวดด้วยคำถามว่า “คนประเภทไหนกันที่ขยายความกฎหมายฉบับหนึ่งให้แลดูน่ากลัวเกินจริง คนประเภทไหนกันที่ปั่นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้คนกลัวเพื่อเป็นแนวร่วมคัดค้าน คนประเภทไหนกันที่ใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ (และไม่อยากรู้) ทางกฎหมายของประชาชนทั่วไปในการบิดเบือนความจริง คนประเภทไหนกันที่แอบวาระซ่อนเร้นไว้ใต้เสื้อคลุมของสิทธิเสรีภาพ”
ซึ่งคำตอบที่ผมแน่ใจว่ารวมอยู่ด้วยแน่ๆ ก็คือ (กลุ่ม) คนที่รู้ว่ากำลังทำผิดตามมาตรา 24 (1) อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และผมเชื่อว่าเป็นประเด็นหลักของการคัดค้าน เพียงแต่ถูกคลุกเคล้าเอาไว้กับประเด็น “หาพวก” อื่นๆ
ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ในความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกลุ่มคนที่เวียนหน้ากันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไข และ/หรือ ยกเลิกมาตรา 112 เมื่อเรามองผ่านม่านมายาของวาทกรรมทั้งมวล มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาได้แทงทะลุเข้าไปด้วย “จิตวิทยาอาชญากร” นั่นเอง
ซึ่ง ดร.ทวีเกียรติ ได้ขยายความต่อว่า
“คนที่อยากได้ทรัพย์บุคคลอื่น ก็คงต้องการให้ยกเลิกกฎหมายลักทรัพย์
ผมเองยังอยากให้ยกเลิกกฎหมาย “ข่มขืนกระทำชำเรา” เลย !!!
อย่างไรก็ตาม กฎหมายถึงจะมีโทษแรงแค่ไหน
ผู้ที่ไม่คิดจะทำผิดกฎหมาย ย่อมไม่เดือดร้อน
พวกท่านทั้ง 7 เดือดร้อนมากใช่ไหม?
มาตรา 112 เป็นเรื่องของการใช้ถ้อยคำ แสดงว่าคนที่ขอให้ยกเลิก อยากใช้คำหยาบ จาบจ้วง จริงๆ ผมแนะให้ว่า ถ้าคันปากอยากด่านักใคร แต่กลัวผิดกฎหมาย ก็ให้ด่าคนที่อยู่ในบ้านของกลุ่มนิติราษฎร์นั่นแหละ ด่าเข้าไปเถอะ กฎหมายไม่เอาโทษ เพราะคนที่อยู่นอกบ้านของคุณไม่มีใครเขานับถือคนในบ้านของพวกคุณ
หากด่าตัวเองได้ยิ่งดีใหญ่ ไม่ผิดกฎหมาย
และจะให้ผมช่วยด่าหรือช่วยคิดหาคำด่าให้ก็ยินดี”
ครบถ้วน ได้ใจความนะครับ
๐
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองไว้ดูใหญ่โตว่า “คณะนิติราษฎร์” นั้น ไม่ว่าจะใช้วาทกรรมอำพราง หรืออ้างหลักวิชาการจำแลง อย่างไร สุดท้ายก็สลัดไม่หลุดจากข้อเท็จจริงที่ว่า สุดปลายทางข้อเสนอของพวกเขานั้นเอื้อต่อประโยชน์สูงสุดของใคร?
และต้องการโค่นล้ม-ทำลายอะไร?
ในเชิงวิชาการและหลักกฎหมาย ผมเชื่อว่าทุกแง่มุมที่เสนอมา นักกฎหมายด้วยกันเขาโต้แย้งได้หมด เหมือนอย่างที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้ใช้บทความเรื่อง “สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน” หักล้างอย่างสุภาพต่อข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการ “นำสิ่งที่ไม่ควรเทียบกันมาเทียบกันประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เทียบกันได้ หรือแสดงความเห็นโดยไม่ชี้แจงให้ชัดว่าเป็นความเห็น แต่ทำให้คนเชื่อไปว่าเป็นความรู้โดยมิได้ตั้งแง่คิดให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรองอย่างแจ่มชัด” ซึ่ง “อาจชวนให้เกิดความหลงทาง หรือเกิดไขว้เขวทางความคิดแก่คนหมู่มากจนยากจะแก้ไข เป็นสิ่งที่นักวิชาการพึงระวัง”
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อจะเอาชนะคะคานกันเสียอย่าง กระบวนการตอบโต้แบบแถไถไปมาก็ทำหน้าที่สร้างวาทกรรมของมันไป เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการ ไม่ใช่ความถูกต้องทางวิชาการ แต่เป็น “วาทกรรม” ที่จะให้เอาไปพูดถึงได้ ใช้อ้างได้ ไปขยายผลได้ โดยคนที่พร้อมจะเชื่อ คนที่พร้อมจะทำหน้าที่สื่อความต่อไป ซึ่งสุดท้ายเมื่อโต้แย้งอะไรไม่ได้แล้ว ก็จะกลับมาตรงจุดที่ว่า “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”
แล้วผลักดันให้ทุกคนที่โต้แย้ง ทุกคนที่เห็นว่าการยึดอำนาจสามารถสถาปนาอำนาจรัฐาธิปัตย์ขึ้นมาได้ เป็นพวกสนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย โดยลืมไปว่า ด้วยหลักคิดแบบนี้ ทุกประเทศในโลกที่ให้การรับรอง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็จะกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนการทำรัฐประหารและต่อต้านระบอบประชาธิปไตยกันไปหมดทั้งโลกเลยทีเดียว
แล้วยังไง?
เพราะมุมคิดแบบนี้ก็เอาไปผลิต “วาทกรรม” ได้ ถ้าอยากทำ และวาทกรรมก็จะกลายเป็นกรรมที่ไม่มีวันจบ ตราบเท่าที่สมองของคนขาดแล้วซึ่งสำนึก
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเข้าใจได้ที่ ดร.ทวีเกียรติ เขียนบทความตอบโต้กับ “กลุ่มผู้ออกแถลงการณ์ทั้ง 7” ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นวิชาการ และเหมือนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพูดจาด้วยหลักการและเหตุผลกับคนเหล่านี้อีก
ลองดูความอีกตอนหนึ่ง
“ก่อน 19 กันยา กลุ่มนิติราษฎร์ ไปอยู่ที่ไหนกัน ถึงไม่รู้ว่า ความขัดแย้งมีมาก่อน 19 กันยายน 2549 และก่อน 14 ตุลาคม 2516 ด้วยซ้ำ และประเด็นที่ขัดแย้งทั้งหลายมีประเด็นเดียวเท่านั้น คือ คนในรัฐบาลที่ทุจริต หรือสงสัยว่าทุจริต หรือแม้พิสูจน์แล้วว่าทุจริต แต่ยังมีอำนาจลอยนวล ลอยหน้าอยู่ได้ โดยไม่มีใครสามารถนำพวกเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ คือไปไม่ถึงศาล โดยเหตุที่ ถูกแทรกแซงในทุกๆ ทาง
ฝ่ายบริหาร ตำรวจ อัยการ กกต.ถูกแทรกแซงตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหลายก็พึ่งไม่ได้ ลามปามไปถึงตุลาการเกือบทุกชั้นศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม “ถุงขนม” ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ว่อนไปหมด คณะวรเจตน์ ไม่รับรู้ ไม่รับเห็นเลยหรือไร ?”
เป็นคำถามเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม ที่นิติราษฎร์ไม่มีวันตอบได้กระจ่างใจตัวเอง ถ้าในสมองยังมีสำนึกผิดชอบชั่วดีแม้เพียงสามัญธรรมดา
๐
ดร.ทวีเกียรติ เป็นอาจารย์วิชากฎหมายร่วมสถาบันเดียวกันกับ “คณะวรเจตน์” เคยสวนทางความคิดกันมาหลายกรรมต่างวาระ
สิ่งที่นิติราษฎร์นำมาขายใหม่ หลายแง่หลายมุมก็เคยผ่านการวิวาทะกันมาแล้ว ถูกหักล้างมาแล้วอย่างเช่นหลักนิติรัฐที่อ้างกันมาก อ้างกันเสมอ เช่นในคราวที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับพวก ออกมาโต้แย้งคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ดร.ทวีเกียรติก็เคยเขียนบทความเรื่อง “หลักนิติรัฐกับคนเนรคุณ” อรรถาธิบายเอาไว้อย่างหมดจด
“การที่ยึดถือหลักนิติรัฐต้องทำโดยมีจิตวิญญาณที่จะปกป้องนิติรัฐด้วย โดยต้องมองให้รอบรู้ให้ทั่ว หากเห็นไม่รอบ กอดแต่หลักไว้อย่างเดียวไม่ดูว่ามดแทะ ปลวกทะลวงหลักจนปรุพรุนเป็นโพรงอยู่ข้างในไปหมดแล้วยังพร่ำเพ้อว่าหลักยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่รู้และโวยวายให้ใครก็ได้เข้ามาแก้ไข แต่พอมีคนจะไปช่วยพยุงซ่อมแซม โดยเอามด ปลวกออกจากหลัก โดยที่เขาก็เมตตาไม่ฆ่ามด ปลวกเท่านั้น เพียงแต่ขอกวาดออกจากหลักไม้ไปชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมหลักให้มั่นคงแล้วจะเชิญให้มด ปลวกเหล่านี้มากัดกินกันใหม่เท่านั้น
คนที่อ้างว่าตนพิทักษ์หลักนิติรัฐเหล่านี้ก็ยังคงกอดหลักขวางกั้นออกหน้าปกป้องมด ปลวก ไม่ให้ใครไปแตะต้องมด ปลวกเหล่านั้น โดยคิดว่าเป็นการปกป้องสิทธิของมดและปลวกเหล่านั้นตามหลักนิติรัฐอยู่
แทนที่จะเป็นการบำรุงรักษา กลับเป็นการช่วยทำลายหลักนิติรัฐทางอ้อม
ไม่เห็นแม้กระทั่งพวกปลวกๆ ทั้งหลายกำลังนั่งหัวเราะเยาะพวกกำจัดปลวกที่ทะเลาะกันเอง
เท่ากับเนรคุณหลักนิติรัฐเสียเอง
ความเห็นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นการ "เห็นต้นไม้แต่ไม่เห็นป่า"
ป่าไม้ถูกทำลายลงทุกวัน ท่านเหล่านี้ก็รู้อยู่ เรียกร้องให้ช่วยกันปราบพวกตัดไม้ทำลายป่า
แต่พอเขาจะไปจับคนตัดต้นไม้ ท่านเหล่านี้ก็ออกขวางกั้น โดยอ้างว่า ชาวบ้านตัดต้นไม้ต้นสอง ต้น ไม่เสียหาย ต้องคุ้มครองให้เขาอยู่กินได้
ท่านเหล่านี้จึงเห็นแต่คนตัดไม้ทีละต้น แต่ไม่เคยเห็นคนทำลายป่า
หารู้ไม่ว่าคนเหล่านั้นตัดทีละต้น เป็นร้อย เป็นล้านต้นแล้ว
ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงไม่สามารถดำเนินการกับคนทำลายหลักนิติรัฐได้เสียที ด้วยฝีมือของคนที่คิดว่าตนเป็นคนพิทักษ์อนุรักษ์หลักนิติรัฐ แต่มองไม่เห็นปลวกที่กำลังกัดกิน และทำลายหลักนิติรัฐที่เขาบูชาอยู่ตำหูตำตา
ดังนี้ แทนที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์หลักนิติรัฐ
กลับกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ปลวกไปเสียนี่!!!
หลักนิติรัฐจึงถูกเนรคุณด้วยสายตาที่คับแคบเช่นนี้เอง”
๐
จากตอนนั้นถึงวันนี้ ผมเริ่มสงสัยว่า องครักษ์พิทักษ์ปลวกกลายพันธุ์ไปเป็นปลวกเสียเอง ก็ได้ด้วย?
#
5 ตุลาคม 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น