น้ำท่วม ชักพามาทั้งน้ำตา และน้ำใจ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นการเอาเท้าราน้ำ
หรือกวนน้ำให้ขุ่น
คืนออกพรรษา (2553) ผมกดดูรายงานข่าวน้ำท่วมของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง สิ่งที่เห็นก็คงเหมือนกับที่ทุกคนเห็น
สายน้ำที่ท่วมท้น ผู้คนที่เดือดร้อน ความช่วยเหลือที่ทบทยอยไป การแก้ไขสถานการณ์อย่างแข็งขันของหลายฝ่าย
ก่อนจะมารู้สึกแปลกๆ กับสกู๊ปข่าวทางทีวีไทย ที่ตบท้ายรายงานว่า “ตั้งแต่มีคลองชลประทานมา...ปี
บริเวณนี้ น้ำท่วมมาแล้ว...ครั้ง”
ครั้นเมื่อเปรยเป็นข้อสังเกต
ก็ได้รู้ว่ามีคนอื่นที่รู้สึกแบบเดียวกัน จากช่วงข่าวกลางวันและรายการภาคบ่ายของสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวกัน
วันเดียวกัน
ปานประหนึ่งว่า
คลองชลประทานเป็นสาเหตุของน้ำท่วมซ้ำซาก
๐
![]() |
เครดิตภาพ: ครอบครัวข่าว 3 |
หากอยากจะพูดกันแบบกำปั้นทุบดินโดยไม่กลัวเจ็บมือ
ก็คงจะไปแย้งเขาไม่ได้ เพราะวิธีที่น้ำท่วมในโลกนี้มีอยู่แค่ไม่กี่วิธี
และวิธีหนึ่งก็มาจากการที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเอ่อล้นท้นขึ้นมาในยามน้ำหลาก
เมื่อมีคลองและมีน้ำ น้ำก็ย่อมจะมาตามคลอง
ในยามน้ำนองก็ย่อมล้นคลองท่วมสองฟากฝั่ง เป็นธรรมดา แต่ที่เป็นปัญหาก็คือว่า ถ้าไม่มีคลอง
น้ำจะไม่ท่วมหรืออย่างไร และใครที่เขาขุดคลองขึ้นมา มีเจตนาเพียงเพื่อจะปล่อยน้ำมาท่วมบริเวณนั้นหรือเปล่า
คลองชลประทานคงไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับการตัดถนนไปขวางทางน้ำอันเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในบางพื้นที่
ต่างจากการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจนเป็นสาเหตุให้แผ่นดินทรุด
ไม่เหมือนการขยายตัวของเมืองและการรุกล้ำทำลายความสมดุลของธรรมชาติ
แต่เป็นเครื่องมือเก่าแก่ในการกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ทำการเกษตร
โดยการลอกเลียนธรรมชาติ
มนุษย์เริ่มรู้จักกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเพาะปลูก คนโบราณรู้จักขุดสระ
ขุดบึง สร้างอ่างเก็บน้ำ ต่อมาได้มีการขุดคูคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ซึ่งขาดแคลน
เรียนรู้การลดความแรงของน้ำ และวิธีเปลี่ยนเส้นทางน้ำ จนกระทั่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
ทั้งเพื่อการชลประทาน เขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
แต่ในระยะหลัง
เขื่อน-โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่-ซึ่งสมัยหนึ่งเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์
ได้กลายเป็นเป้าหมายของการต่อต้านคัดค้าน โดยเฉพาะในแง่ “ต้นทุน” ของความสูญเสีย
ทั้งทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ
ซึ่งนอกจากจะต้องประเมินผลกระทบในแต่ละด้านกันอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้ต้องมาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์กันใหม่ด้วย
เมื่อสมการของต้นทุนมีองค์ประกอบมากขึ้น
ดูจากผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายๆ
แห่ง ผมค่อนข้างจะมีความโน้มเอียงไปทางเดียวกับฝ่ายที่คัดค้านเรื่องเขื่อน แต่ผมก็ยอมรับด้วยว่า
การคัดค้านอะไรสักอย่าง หรือแม้แต่คัดค้านมันเสียทุกอย่าง เป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ปัญหาหรือการลงมือทำอะไร(แม้เพียงอย่างเดียว)มากนัก
ดังนั้น
ไม่ว่าจะมองเรื่องเขื่อนในแง่ของการเก็บกักน้ำและ/หรือบริหารจัดการน้ำ
หรือในแง่ของการผลิตกระแสไฟฟ้า เราก็คงต้องมองไปให้ไกลกว่า “เอา/ไม่เอา”
๐
ในแง่กระแสไฟฟ้า มันง่ายกว่าแน่ๆ
ที่คนหนึ่งจะบอกว่า ไม่เอาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ อีกคนหนึ่งบอกว่า
ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีกคนก็มาบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
หรือการที่หลายๆ
คน จะบอกว่า พวกเขาไม่เอาทุกอย่าง ก็ไม่ยากอะไรอีกเหมือนกัน
การอยู่ในสถานะที่พูดอะไรก็ได้โดยไม่ผูกพันความรับผิด
เป็นเรื่องง่ายเสมอ
แต่ถ้าบุคคลเดียวกันนั้นไปอยู่ในจุดที่ต้องรับผิด-รับชอบต่อการทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
บ่อยครั้งที่บุคคลนั้นจะทำในสิ่งที่ตรงข้าม/ขัดแย้งกับที่เขาเคยพูด ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะเขาหรือเธอเปลี่ยนไป
หรือเป็นคนไร้จุดยืน แต่เป็นเพราะเขาหรือเธอได้ไปอยู่ในจุดที่เข้าถึงข้อมูลอีกชุดหนึ่ง
ตระหนักถึงผลกระทบอีกแบบหนึ่งจากการทำหรือไม่ทำสิ่งใดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาหรือเธอเคยพูดไว้
รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในความหมายนี้-แม้จะในกรณีตัวอย่างต่างกัน-ก็คือ
การลาออกของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยูกิโอะ ฮาโตยามะ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน
หลังจากที่เขาไม่สามารถรักษาสัญญาที่จะย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาะโอกินาวา
ตามที่ได้หาเสียงไว้
แน่นอน
ณ วันนี้เราอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ว่าพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นทางออกที่มีอยู่จริง
ไม่ว่าจะเป็นสายลม แสงแดด แต่ ณ วันนี้อีกเช่นกัน ที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถแทนที่เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
และไม่มีใครหยุดยั้งหรือแม้แต่ชะลอการเผาผลาญพลังงานของมนุษยชาติได้จริง
เราก็คงต้องคุยกันและเลือกเอา เช่น ถ้าเราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแน่ๆ เราจะอยู่กับเขื่อนอย่างไร
ในเงื่อนไขแบบไหน
ตราบเท่าที่เราก็ไม่อยากเสี่ยงกับภัยพิบัติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
๐
ในแง่การบริหารจัดการน้ำ ผมนึกถึงงานเขียนของ
ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เรื่อง “น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรมไทย”
หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิดเรื่องการอพยพและย้ายถิ่นฐาน
รวมถึงการแพร่กระจายของวัฒนธรรม ว่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นการขยายจากทิศใต้
(จากน่านน้ำหรือทะเล) ไปทิศเหนือ (ทวีปและภูเขา) โดยระบุว่า
ยิ่งอพยพลึกเข้าไปในพื้นทวีปหรือยิ่งมีภูเขามากขึ้นเท่าไร
ความฉลาดของมนุษย์ในเรื่องการกักกันน้ำไว้เพาะปลูก
(ซึ่งเริ่มจากการเลียนแบบธรรมชาติ) รวมทั้งการแก้ปัญหาความแรงของน้ำจากภูเขาที่มีความลาดเอียงสูง
ก็ยิ่งมีมากขึ้น และเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมที่มีพื้นฐานมาจากการกักกันน้ำ
ตัวอย่างสภาวะที่ต้องเผชิญกับทั้งความอดอยากแห้งแล้งและอุทกภัย
กับประวัติศาสตร์เก่าแก่ของการสร้างเขื่อนและการทดน้ำ/ผันน้ำในเมืองจีน
เป็นสภาวะที่ต่างจากมนุษย์บริเวณชายฝั่งทะเล ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ
ซึ่งน้ำค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่ทะเล และมีน้ำจืดค้างอยู่ทั่วไปตามที่ลุ่มต่ำ
การควบคุมน้ำและการเก็บกักน้ำจึงแทบไม่มีความจำเป็น
“แต่อาศัยอยู่กับน้ำที่ไหลผ่านไปมาอย่างง่ายๆ
เหมือนกับต้นข้าวซึ่งมีชีวิตอยู่กับน้ำ”
วัฒนธรรมชาวน้ำแถบนี้จึงต่างไปมากจากวัฒนธรรมของการเก็บกักน้ำ
ซึ่งอาจจะเรียกในเชิงเปรียบเทียบว่าเป็น วัฒนธรรมชาวบก
การคลี่คลายของสังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนประเทศไทย-เช่นเดียวกับประเทศแถบที่ลุ่มชายฝั่งอื่นๆ-ไปเป็นสังคมชาวบก
แม้สัญชาติญาณแบบเลื่อนไหลไปกับกระแสน้ำจะยังฝังแฝงอยู่มาก แต่มันก็เหมือนกับที่
ดร.สุเมธเสนอไว้ว่า ในสมัยประวัติศาสตร์
คลื่นวัฒนธรรมกลับไหลวนจากทวีปและภูเขากลับมายังย่านทะเล
ในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำ
ชาวน้ำที่กลายมาเป็นชาวบก
ก็เรียนรู้และรับเอาอารยธรรมการกักกันน้ำและจัดการน้ำของชาวบกมาด้วย
ยิ่งในยุคที่โลกเสียสมดุล แล้งก็มาก น้ำก็มาก เช่นนี้
เขื่อนหรือสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำย่อมไม่ใช่สิ่งที่เราจะด่วนตัดออกไป
โดยที่ยังไม่มีสิ่งทดแทนที่สมเหตุสมผลพอ
หรือเราจะคิดกันจริงๆ
ว่า เขื่อนและคลองชลประทานเป็นตัวการปล่อยน้ำออกมาท่วมทั้งไร่นาและบ้านเรือน
และมันคงจะดีกว่านี้
ถ้าเราไม่มีเขื่อน ไม่มีคลองชลประทาน?
๐
ในกลุ่มคนที่ไม่เอาเขื่อน
มีทั้งที่คัดค้านด้วยหลักวิชาการ มีทั้งที่ต่อต้านโดยบทเรียนจากหลายๆ เขื่อนในอดีต
ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการคัดค้าน/ต่อต้านโดยสุจริต ด้วยจุดยืน/มุมมองที่แตกต่าง
ส่วนคนที่คัดค้าน/ต่อต้านโดยไม่สุจริต
จะมีหรือไม่ อย่างไร ด้วยผลประโยชน์หรือเหตุผลอื่นใด ผมไม่ทราบ
เพราะอย่างน้อยที่สุด คนในภาคองค์กรพัฒนาเอกชนที่ผมพอจะรู้จักมักคุ้นอยู่บ้าง
ไม่ว่าจะคิดเหมือนหรือต่างอย่างไร ก็ไม่ใช่คนแบบนั้น
แต่ถ้าถามว่าผู้ที่ต่อต้านเขื่อนโดยไม่ได้สนใจในปัญหาเรื่องน้ำท่าหรือว่าพลังงาน
หากแต่มีนัยแอบแฝงหรือวาระซ่อนเร้น มีไหม ตอบได้ว่ามี
แต่ก่อนนี้
ผมยังนึกว่าคงมีแต่คนรุ่นๆ ผม ที่จะมองเห็นนัยของคนรุ่นไล่ๆกัน
ซึ่งออกมาผสมโรงต่อต้านเขื่อนไปกับเอ็นจีโอสายอนุรักษ์ ว่าเป็นการแสดงออกแบบ
“ตีวัว” เพื่อให้ “กระทบ(ไปถึง)คราด”
อันเป็นเป้าหมายจริงที่พวกเขาต่อต้านและหาทางจะล้มล้าง
มาถึงวันนี้
คนรุ่นอายุยี่สิบกว่าๆ ก็เริ่มมาสะกิดถามผมแล้วว่า
การต่อต้านเขื่อนนี่เป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์..... ด้วยหรือเปล่า
ผมบอกว่า
ถ้าคนรุ่นๆ เขายังรู้สึกได้ คำตอบของผมก็คงไม่จำเป็น
แต่เมื่อนึกถึงระยะทางจากเขื่อน เลื่อนไหลมาจนถึงคลองชลประทาน ผมก็ต้องบอกไปว่า
“มันมาไกลมากแล้วด้วย”
#
30 ตุลาคม
2553
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น