“เรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?”
ในผลงานเลื่องชื่อของ
ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ เรื่อง “คนขี่เสือ” จันทรเลขาตั้งคำถามนี้กับกาโลผู้เป็นพ่อ ในวันที่ชีวิตของทั้งสองพลิกผ่านจากความยากเข็ญไปสู่ความมั่งคั่งและได้รับการเคารพนบนอบ
คำถามของเธอไม่ได้มาจากความกริ่งเกรงว่าวันเวลาที่ยิ่งกว่าฝันจะมอดมลายไป แต่เพราะ
“ในอกของลูกหนักอึ้งอยู่ด้วยความเท็จ”
๐
กาโลที่แท้เป็นคนดีงาม
เขาเป็นช่างเหล็กฝีมือดีที่สุดแห่งเมืองฌรนา แคว้นเบงกอล ภรรยาของเขาเสียชีวิตหลังจากคลอดจันทรเลขาผู้ซึ่งกลายมาเป็นเหตุผลเพียงอย่างเดียวในการมีชีวิตอยู่ของเขา
เขาไม่แต่งงานใหม่เพราะไม่วางใจว่าจะมีแม่เลี้ยงคนไหนดูแลลูกสาวเขาดีพอ
แม้กาโลจะเป็นคนชั้นกมารซึ่งอยู่ในวรรณะศูทร
และไม่เคยเห่อเหิมที่จะก้าวข้ามเส้นแบ่งวรรณะ แต่เขาก็ดิ้นรนส่งเธอเข้าเรียนที่โรงเรียนคอนแวนต์
เพื่อให้เธอมีการศึกษาอย่างดีที่สุด และผลการเรียนของเลขาก็ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวัง แต่ชะตาสองพ่อลูกถูกพลิกผันภายใต้สงครามใหญ่และความอดอยากยากจนที่แผ่คลุมทั่วเบงกอล
เงินที่กาโลเก็บออมไว้ชั่วชีวิตทั้งด้อยค่าลงทุกทีและร่อยหรอลงทุกวันเมื่อ ลูกค้าไม่มีทั้งของที่จะซ่อมและเงินที่จะจ่ายค่าซ่อม
เช่นเดียวกับคนทั่วแคว้น กาโลแอบเกาะขบวนรถไฟไปแสวงโชคในมหานครกัลกัตตา แต่ปลายทางของเขากลับอยู่ที่เรือนจำ
กาโลถูกจับขณะขโมยกล้วยหอมสามใบของผู้โดยสารในตู้รถไฟชั้นหนึ่ง
เจ้าหน้าที่บอกว่าความผิดลหุโทษนี้อาจถูกจำคุกสิบห้าวันหรือหนึ่งเดือน แต่ด้วยความศรัทธาเชื่อถือในตัวบทกฎหมายว่าเป็นเครื่องมือรับใช้ความยุติธรรมแม้แต่คนยากจน
กาโลเชื่อว่าหลังคำสารภาพ ศาลจะเข้าใจในความหิวและความจำเป็นที่เขาต้องมีชีวิตอยู่
แต่คำถามของผู้พิพากษาที่เขาจะจดจำไปชั่วชีวิตก็คือ “ทำไมแกถึงจะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเล่า”
ตามคำบรรยายของภวานี
ภัฏฏจารย์ “กระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นในศาลสถิตยุติธรรม แล้วรวมตัวขึ้นเป็นพลังภายในเรือนจำ
จึงคงดำเนินต่อไป... กาโลไม่เพียงแต่ปฏิเสธเท่านั้น หากยังกำจัดคุณค่าต่างๆ ที่เขาได้มาโดยกำเนิดออกไปเสียด้วย
เขาจำเป็นต้องตัดรากแก้วทางสังคมและสละมรดกตกทอดที่ตนได้สืบต่อไว้ออกไปจนหมด”
สามเดือนในคุกทำให้เขาไม่มีวันเป็นกาโลคนเดิมอีกต่อไป และนั่นคือวิถีเดียวกับที่คนจำนวนมากได้ขบถต่อสังคม
นักโทษหมายเลขบี-10
ทำลายภาพลวงตาของมหานครในความนึกคิดของกาโลลงไป ที่นั่นไม่มีงานให้ทำ
มีแต่คนอดอยากจำนวนมหาศาลที่ทบทยอยกันตายไปทุกๆ วัน ดังที่กาโลได้ประจักษ์ด้วยตัวเองเมื่อเขาเดินทางไปถึง
เมื่อชีวิตเหลือทางเลือกเพียงอดตายกับงานที่เขารังเกียจในซ่องโสเภณี กาโล ก็เลือกที่จะมีชีวิตอยู่
บทเรียนแรกที่กาโลได้เรียนรู้จากชีวิตใหม่ก็คือ
คำแนะนำของเจ้านายว่า “หาหมวกคานธีมาใส่หัวเสีย
จะทำให้แกดูน่านับถือขึ้นกว่าเดิม” เมื่อรวมกับรายได้ที่มากกว่าเคยนึกฝัน
เขาก็ไม่ใช่ “เศษเดนของแผ่นดิน” ที่ถูกเหยียดหยามอีกต่อไป
แม้แต่ตำรวจผู้บันดาลโทสะได้ทันทีที่เห็นผู้คนในร่างโครงกระดูกเดินได้ ก็ยังผูกมิตรกับเขา
ทักทายว่า “การค้าเป็นอย่างไรบ้าง?” ทั้งที่การค้าและรายได้ของเขามาจากความอัปยศและน้ำตาของเด็กสาวที่ถูกล่อลวง/บังคับมา
ซึ่งกาโลยังคงเห็นว่าชั่วช้ายิ่งกว่าสิ่งที่ทำให้เขาถูกตราหน้าและลงโทษมาก่อน
ถ้อยคำของบี-10
เมื่อครั้งอยู่ในคุก กลับมาดังก้องในใจกาโลอีกครั้งเมื่อจันทรเลขากลายเป็นหนึ่งในเด็กสาวเหล่านั้น
“เจ้าพวกที่เป็นนายเหยียดหยามเราก็เพราะมันกลัวเรา พวกมันทำร้ายเราตรงที่ที่เราเจ็บอย่างร้ายกาจ
คือตรงท้องของเรา เราจะต้องจ้วงกลับ”
๐
วิธี ‘จ้วงกลับ’ ของผู้คนต่อสังคม ต่อการเหยีดหยามทำร้าย มีรูปวิธีที่หลากหลาย
จากการแก้แค้นโดยเจาะจง อาชญากรรมที่ไม่เลือกเป้าหมาย การไต่บันไดสังคม
ไปจนถึงการต่อสู้ทางชนชั้น และการยึดกุมอำนาจ
คนอย่างบี-10
เลือกเอาการกระชากสายด้ายศักดิ์สิทธิ์แห่งชนชั้นพราหมณ์ทิ้งไป และต่อสู้เรียกร้องให้กับผู้คนที่อดอยากแห่งวรรณะที่ต่ำต้อยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
แม้เขาจะมีโอกาสกลับสู่วรรณะเดิมและชีวิตที่สุขสบายกว่าได้เสมอ ส่วนกาโลยกตัวเองขึ้นเป็นพราหมณ์ผู้ได้รับความเคารพจากชนทุกชั้น
มนตร์อุบายที่เกิดจากอารมณ์ขันอันขมขื่นของบี-10
คือวิธีการที่กาโลได้กลายเป็นมงคล อธิการี เป็นการ ‘เกิดใหม่’ พร้อมกับสายด้ายอันศักดิ์สิทธิ์แห่งวรรณะอันสูง
และปาฏิหาริย์แห่ง ‘การเสด็จของพระศิวะ’ ซึ่งไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าหินก้อนที่ผ่านการสลัก ทำให้กลวงเพื่อมีน้ำหนักเบาลง
เผาไฟให้ดูเก่าคร่ำ และผุดขึ้นจากแรงดันของถั่วในกระป๋องใต้ดินที่งอกขึ้นภายหลังการทดลองกะระยะ
ปริมาณ และรดน้ำ จนแน่ใจ
เงินทองจากศรัทธาของคนทุกชั้นวรรณะหลั่งไหลมา
เทวาลัยเริ่มก่อตัวเป็นอาคารงดงามสมบูรณ์ ความเคียดแค้นของกาโลได้รับการชำระด้วยลาภสักการะ
แต่ก็เช่นเดียวกับที่ลูกสาวตั้งคำถาม “เรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?”
เขาเริ่มจากความลวง ตามมาด้วยการบีบบังคับเอาที่ดินจากเจ้าของเดิมมาใช้ก่อสร้างเทวาลัยในนามของพระศิวะ
เขาได้สาสมใจในวันที่ผู้พิพากษาคนที่เคยถามถึงความจำเป็นที่คนอย่างเขาต้องมีชีวิตอยู่
บัดนี้กลับต้องก้มลงสัมผัสเท้าเขาอย่างนอบน้อม เขารักเงินของเทวาลัยมากกว่าสมัยที่เขาได้มาจากการทำงานหนัก
และเมื่อมีชายชราวรรณะต่ำผู้อดอยากมาวิงวอนขออาหาร ปฏิกิริยาแรกของเขาคือถอยหลบจากมือที่ยื่นมา
ตามด้วยถ้อยคำเดือดดาล “แกกล้าดีอย่างไรถึงได้มาแตะต้องเนื้อตัวข้า”
ความดีงามของกาโลช่างตีเหล็กไม่ถึงกับสิ้นสูญ
ยังคงปรากฏขึ้นขัดแย้งกับท่านอธิการิน ทำให้บางครั้งมงคล อธิการีรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องรับเงินจากศรัทธาของคนจนที่แทบไม่มีกิน
และทำให้เขายอมให้คนสวนนำเอาน้ำนมสรงพระศิวะไปเลี้ยงทารกที่กำลังจะอดตาย แต่ถึงที่สุดแล้วความเป็นพราหมณ์ได้เกาะกุมเขาไว้มั่นเกินกว่าจะฉุดดึงกลับมา
เมื่อรักแท้ระหว่างลูกสาวกับเพื่อนต่างวัยผู้ประกาศตนเป็น “วรรณะนักโทษ”
ยากจะขวางกั้น เงื่อนไขข้อสำคัญของกาโลคือ บี-10 ต้องแสดงตนเป็นวรรณะพราหมณ์
ตามคำเปรียบเปรยของผู้เขียน
“กาโลได้ขึ้นควบขับความเท็จไปเหมือนกับว่ามันคือเสือซึ่งเขาไม่สามารถจะลงมาจากหลังของมันได้
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเสือก็จะตะครุบตัวเขากินเสีย”
ยิ่งกาโลควบขับไป
จันทรเลขาซึ่งเขาเข้าใจว่านั่งร่วมบนเสือตัวเดียวกัน ก็ยิ่งอยู่ห่างออกไปทุกที จันทรเลขาเข้าใจว่าพ่อจะต้องคอยระวังตัวไม่เผยแสดงตัวตน
เธอเห็นด้วยกับแรงกระตุ้นแห่งการขบถ แต่เธอก็สงสัยเสมอว่าทำไมพ่อจึงไม่มีแม้ความเมตตาเล็กๆ
น้อยๆ สายใยความรัก ความเชื่อถือศรัทธาในความดีงามของพ่อที่เคยแน่นแฟ้นตลอดมาคลายเกลียวลงทุกขณะกับคำถามในใจครั้งแล้วครั้งเล่าว่า
“มันเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือ” และเมื่อเธอมองดูพราหมณ์คนอื่นที่เธอพบอยู่ทุกวันซึ่งล้วนแล้วแต่มีมารยาทดี
และนอบน้อมถ่อมตัว เธอก็สงสัยว่า “เงินเหรียญปลอมจำเป็นจะต้องส่งประกายฉายแสงให้สดใสยิ่งกว่าเงินเหรียญแท้
หรืออย่างไร”
๐
เงินเหรียญปลอมที่ฉายแสงสดใสยิ่งกว่าเหรียญเงินแท้สามารถตบตาคนได้เสมอมา
แต่เหรียญเงินแท้ที่งำประกายเช่นบี-10 มีอยู่ไม่มาก บี-10
ปฏิเสธการเป็นหุ้นส่วนในรายได้ของเทวาลัย ปฏิเสธเงื่อนไขความรักที่กาโลกำหนด
เช่นเดียวกับที่เขาเคยหันหลังให้วรรณะเดิมของตัวเองมาก่อน เขาเป็นคนจุดไฟแห่งการ ‘จ้วงกลับ’ ให้กาโล แต่วันหนึ่งเขาก็ต้องถามเพื่อนเก่าผู้รุ่งโรจน์ว่า
“หรือมันเป็นไปได้ว่า ในการทุจริตหลอกลวงนั้น นายไม่มีความประสงค์อื่นใดยิ่งไปกว่าจะทำให้ท้องกับกระเป๋าเงินของนายเต็มขึ้นมา”
ในขบวนของคนที่ต่อสู้ตามเสียงเพรียกแห่งความยุติธรรม
มีคนที่เริ่มต้นอย่างบี-10 อยู่มากมายทุกหนแห่ง แต่สุดท้าย จะมีกี่คนที่ภายใต้เสื้อคลุมตัวเดิมจะไม่เหลืออยู่เพียงความเมามัวและกระหาย
อำนาจ ดังที่จันทรเลขาพูดกับพ่อ (และนับรวมพ่อของเธอเข้าไว้ด้วย) “คนรักชาติโจมตีผู้ปกครองของประชาชนที่เลว แต่ครั้นเมื่อตัวเองมีอำนาจขึ้น ก็กลายมาเป็นผู้ปกครองแบบที่ตัวเคยโจมตี”
เช่นเดียวกัน
คนอย่างกาโลที่ควบขี่หลังเสือแห่งความฉ้อฉลหลอกลวง ก็ปรากฏอยู่ทุกสมัย และไม่มีกี่คนที่กล้าจ้วงแทงเสือตัวนั้นด้วยมือของตัวเอง
อย่างที่กาโลเริ่มลงมีดแรกกับประโยคที่ว่า “ข้าพเจ้าผู้สร้างเทวาลัยนี้ไม่ได้เกิดมาในวรรณะพราหมณ์”
ด้วยคำถามเดียวกับจันทรเลขา
แต่ภายใต้แรงทับถมของความเท็จและการฉ้อฉลอันยาวนานของยุคสมัย ว่า “เรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?” เราทำได้เพียงคาดหวังให้ผู้ที่ควบขี่อยู่บนเสือร้ายเป็นกาโลอีกคนหนึ่ง
หรือรอให้เขาก้าวลงมาจากหลังเสือเสียเอง
หรือทำอะไรได้มากกว่านั้น?
#
Rhymes to learn
- ‘คนขี่เสือ’ ของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นวรรณกรรมแนวสัจจนิยมที่ได้รับการยกย่องว่าถ่ายทอดชีวิตผู้คนและสภาพ สังคมอินเดียได้อย่างหมดจด สำนวนแปลที่นำมาใช้ในที่นี้ เป็นของ ทวีป วรดิลก จากฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2517 ส่วนสำนวนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นคนแรกที่แปลไว้ เพิ่งค้นพบในภายหลัง
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549)