![]() |
Credit: gutenberg.org |
ท่านพุทธทาสนำสำนวน ‘หมาหางด้วน’ มาใช้เปรียบกับระบบการศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ในรายการทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จนเป็นที่โจษจันกันพอสมควรในสมัยนั้น
ต่อมา ในการสนทนาธรรมกับฉัตรทิพย์ นาถสุภา ปีเดียวกัน ท่านพุทธทาสอธิบายว่า “การศึกษาหมาหางด้วนสอนให้คนใหม่ๆ นี้ เป็นคนที่เห็นแก่วัตถุ การศึกษาหมาหางด้วนนั้นมีแต่รู้หนังสือ รู้อาชีพ ไม่สอนธรรม แม้แต่ความเป็นสุภาพบุรุษก็ไม่มีในการศึกษายุคนี้ การศึกษายุคก่อนเขาให้คนจบการศึกษาเป็นสุภาพบุรุษ มีธรรมเต็มตัว เต็มไปด้วยความเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง บังคับตัวเอง”
และขยายความเพิ่มเติมว่า “ฝรั่งคือหมาตัวแรก หมาตัวใหญ่ที่ไปติดกับ หางก็เลยด้วน กับก็คือวัตถุนิยม มันงับหางหมาตัวนี้ด้วน ตามนิทานอีสป หมาหางด้วนมันก็ชักชวนหมาทั้งหลายว่าหางเอาไว้ไม่ดี เอาออกเถอะ ก็มีหมาหลายตัวเอาหางออก นี่เดี๋ยวนี้ฝรั่งที่เป็นชาตินำเกิดหางด้วนขึ้นมา มันถูกวัตถุนิยมงับหางด้วน มันก็ชักชวนให้ประเทศทั้งหลายด้วยการเป็นตัวอย่างให้มาสนใจแต่เศรษฐกิจกับการเมือง และการผลิตทางวัตถุ ศาสนาเอาออก แม้แต่ประเทศไทยก็กันศาสนาออกจากหลักสูตร การเป็นหมาหางด้วนก็แผ่กระจายไปทั่วโลก”
๐
ในรายละเอียดตามเรื่องเล่าของอีสปที่ถ่ายทอดต่อกันมากว่า 2500 ปี ‘หมาจิ้งจอกหางด้วน’ เป็นเรื่องหมาตัวที่ดิ้นรอดมาจากกับดักของนายพราน ด้วยความอับอายต่อการสูญเสียอวัยวะที่บ่งแสดงความเป็นหมาจิ้งจอก จึงไปขอให้จ่าฝูงเรียกประชุม “แล้วเริ่มต้นบรรยายความไม่สลักสำคัญของหาง เพื่อให้หมาจิ้งจอกทุกตัวคล้อยตาม และพากันตัดหางทิ้งเสีย”
อาจจะเป็นความพ้องโดยบังเอิญ แต่นิทานเรื่องนี้ได้แสดงภาพเดียวกับเมื่อคนระดับรัฐมนตรี (เมื่อต้นปีพ.ศ. 2549) เสนอให้เลิกใช้นิทานอีสปในการเรียนการสอนระดับเด็กเล็ก และ “หานิทานที่ทันสมัยเหมาะกับยุคนี้”
น่ายินดีที่ปฏิกิริยาตามหลังจากผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่ทราบข่าว ไม่ต่างไปจากนิทาน “แต่หมาจิ้งจอกทั้งหลายไม่เห็นด้วย เพราะได้ฟังจนหมดสิ้นแล้วว่า หมาจิ้งจอกหางด้วนพูดเข้าข้างตัวเอง มิได้กล่าวถึงคุณงามความดีของหาง ซึ่งครั้งหนึ่งหมาจิ้งจอกหางด้วนเคยมี”
ข้อคิดในเชิงปรัชญา การกระตุ้นให้ใช้วิจารณญาณ และคุณค่าในเชิงคุณธรรม-จริยธรรม คือสิ่งที่ทำให้นิทานอีสปคงทนข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน แม้มีบ่อยครั้งที่การตีความหลายๆ เรื่อง ในหลายสถานการณ์ มักแอบอิงกับผลประโยชน์ของผู้อ้าง เช่นเรื่อง ‘กบเลือกนาย’ ที่ได้ยินได้ฟังกันเสมอ แม้แต่นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรมก็มีความเห็นไม่ตรงกัน บางคนเห็นว่าอีสปเล่าเรื่องนี้เพื่อจูงใจคนไม่ให้ขับไล่ไพซิสตราตุส-ผู้ครอง อำนาจเด็ดขาดแห่งเอเธนส์ แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่า น่าจะเป็นวิธีที่อีสปบอกให้ชาวเอเธนส์ต่อต้านทรราช เพราะนกกระสา (ไพซิสตราตุส) นั้นเลวร้าย อันตรายยิ่งกว่าขอนไม้ (ผู้ปกครองเดิม)
และหากตีความให้ถึงที่สุด กบ (สามัญชน) ควรเรียนรู้ที่จะปกครองกันเองมากกว่า
๐
ตามนัยของท่านพุทธทาส ศาสนาหรือธรรมะคือพวงหางอันสวยงามที่ขาดหายไป ไม่เฉพาะจากระบบการศึกษา ยังรวมถึงระบบอื่นๆ ในสังคมซึ่งล้วนกุดสั้นลงผกผันกับการพัฒนา-เติบโตทางเศรษฐกิจ การผลิต-บริโภคทางวัตถุ การแสวงประโยชน์ผ่านอำนาจทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกำหนดสภาวะความเป็นไปทางสังคม วัฒนธรรม จริยธรรม
แต่ท่านก็ไม่ได้ยกโยนความผิดทั้งหมดให้กับระบบ เพราะระบบต่างๆ ล้วนปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่อาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้เอง แต่กำหนดโดยมนุษย์ เพื่อหล่อหลอมมนุษย์อีกที “ระบบการเมืองก็ดี เศรษฐกิจก็ดี ถ้ามีธรรมเข้าไปรวมอยู่ด้วยแล้ว มันดี ถ้าไม่มีธรรมเลย มันก็ไปตามกิเลส แล้วมันก็เลว”
ท่านยังได้กล่าวเสริมว่า “เจตจำนงของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม... มนุษย์ตั้งใจจะได้อะไร มันเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ ตามยุค ตามสมัย” และ “เป็นไปตามความเลวของมนุษย์ที่เห็นผิดมากขึ้น”
ยุคสมัยในอีกยี่สิบกว่าปีต่อมา เมื่อมองผ่านสายตาของอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นยุคสมัยที่ยิ่งเลวร้ายยิ่งเห็นผิด “เป็นสังคมตัวใครตัวมัน สังคมที่มองเข้าหาตัวเองมากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น อะไรที่ดีสำหรับฉันจะดีสำหรับประเทศ อะไรที่เป็นประโยชน์กับฉันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ... สมัยก่อนใครโกงกัน 10-20 ล้านบาท สังคมตราหน้าแล้ว ใครทำอะไรไม่ดีจะถูกตำหนิอย่างเปิดเผย มีความอาย หิริโอตตัปปะ ปัจจุบันไม่มีแล้ว หมดเกลี้ยง”
หากละความเดียดฉันท์ที่จะเปรียบเปรยตัวเองกับสุนัขจิ้งจอกไป เราอาจจะพบว่าแม้ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจตัดหางตัวเองตามตัวที่หางด้วน แต่สภาพที่ดำรงอยู่ในสังคมยุคใหม่ นอกจากไม่เอื้อให้กวัดแกว่งหางอย่างองอาจ ในหลายสถานการณ์เรายังตกอยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องหลุบเก็บหางเอาไว้ ในเมื่อภาวะไร้หางแปรเปลี่ยนจากความบกพร่องอันน่าละอาย กลายเป็นสิ่งสามัญโดยคติที่ ‘ใครๆ ก็ทำกัน’ และพัฒนาไปสู่สิ่งแสดงความเก่งกาจปราดเปรื่อง โดยมีผู้นำและชนชั้นนำทางการเมือง-เศรษฐกิจเป็นแบบอย่างให้ยึดถือ
คำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย สะท้อนภาพนั้นชัดเจน “หลายสิ่งหลายอย่างเมื่อผมเป็นหนุ่มๆ รับไม่ได้ แต่ปัจจุบันสังคมไทยรับได้ทุกอย่าง พูดภาษาชาวบ้านเรียกว่าหน้าด้านเหลือเกินแล้วเวลานี้ ไม่มีละอายใจ ไม่รู้ผิด ไม่รู้ชอบ ไม่ใช่เงินคืองานบันดาลสุข กลายเป็นเงินคือความสุข กลายเป็นสิ่งซึ่งทุกคนวิ่งเข้าหาหมด ทั้งคนดี คนไม่ดี คนตั้งใจดี ตั้งใจไม่ดี วิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ ศูนย์การเงิน หารู้ไม่ว่าวันหนึ่งกำลังวิ่งเข้าหาศูนย์ความหายนะ”
“เมื่อถึงตอนนั้นสังคมนี้จะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เป็นสังคมตายทั้งเป็น สังคมที่อดอยากยากจนในคุณธรรม ในจริยธรรม ในคุณงามความดี อาจจะเป็นสังคมที่มีความรู้ทางเทคโนโลยี บริหารธุรกิจ แต่จะเป็นสังคมที่ยากจนที่สุด ไร้ปัญญา ไร้สติ ไร้ความรับผิดชอบ”
๐
วิถีแห่งทุนอาจเป็นกระบวนการที่อาจทำให้เราเชื่องเหมือนหมาบ้านของอีสป ที่เลือกเอาปลอกคอแลกกับอาหารและที่อยู่
วิถีการบริโภคเกินความต้องการจำเป็นอาจทำให้เราติดกับในความสุขสมบูรณ์ เหมือนกับฝูงผึ้งในนิทานอีสปอีกเรื่อง ที่พากันรุมตอมน้ำผึ้งหกนองพื้นอย่างเพลิดเพลินจนบินไม่ขึ้น
วิถีแห่งอำนาจและความฉ้อฉลอาจโน้มน้าวล่อลวงหมาจิ้งจอกตัวอื่นให้สละหางตามไปได้อีกมากกระทั่งสภาพไร้หางก็อาจถือเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรไปได้
แต่ในเรื่องเล่าของอีสบ ยังมีหมาป่าที่ปฏิเสธปลอกคอแม้ผอมโซไร้ที่พักพิง มีผึ้งที่รั้งตัวเองไว้ จากความหอมหวานเย้ายวนของน้ำผึ้ง มีหมาจิ้งจอกที่ยังรักษาหางแห่งความทรนงเอาไว้
ในโลกจริง ก็ยังมีคนที่มั่นคงอยู่ในความถูกต้องดีงาม
#
Rhymes to learn
- การกลับไปอ่าน ‘สนทนากับ พุทธทาสภิกขุ ว่าด้วยพุทธศาสนากับสังคมไทย’ ในนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2523 ไม่เพียงแต่ฉายให้เห็นสภาวะสังคมยุคนั้น แต่ยังตั้งคำถามต่อสังคมยุคนี้ที่ธรรมะเสมือนหนึ่ง ‘อินเทรนด์’
- ‘หมาจิ้งจอกหางด้วน’ รวมทั้งนิทานเรื่องอื่นในที่นี้ มาจาก ‘เรื่องเล่าของอีสป’ เรียบเรียงโดย ผกาวดี อุตตโมทย์ (สำนักพิมพ์กะรัต, 2528)
- คำกล่าวของอดีตนายกฯ อานันท์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2548 ในงานมอบรางวัลข่าวทุจริตเชิงสอบสวน ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสแห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งเสียงของจริยธรรมในยุค ‘โกงกันทั้งครอบครัว’
#
3 มีนาคม 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2549)