ในวันต้นๆ ของการแต่งดำ
ผมนึกถึงงานที่เคยเขียนไว้
เกี่ยวกับ การดำรงอยู่และจากไป
 |
royalty-free image from dreamstime.com |
ท่าทีของมูฮัมหมัด อาลี ต่อวันเวลาของชีวิตที่ต้องเผชิญกับโรคพาร์กินสัน ไม่ต่างจากท่าทีของมอร์รี ชวาร์ตซ์ ต่อวันเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่โรค ALS (ภาวะการสลายตัวของเซลล์ประสาทที่สั่งการและควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ) จะพรากไป
อาลีบอกว่า “ผมตื่นขึ้นมาทุกวันด้วยความพยายามจะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยม เพราะแต่ละวันคือของขวัญที่พระเจ้าประทานมา” มอร์รีก็เอ่ยถึงคติทางพุทธ ที่ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “วันนี้จะเป็นวันตายของเราหรือเปล่า เราพร้อมไหม เราได้ทำทุกสิ่งที่จำเป็นต้องทำหรือยัง เราได้เป็นคนแบบที่เราอยากจะเป็นหรือไม่”
อาลีจึงยังคงไปร่วมในงาน-พิธีการสำคัญ ที่เพียงการปรากฏตัวของเขาก็มีความหมายเหนือคำพูดและการแสดงออกใดๆ ยังคงเซ็นชื่อให้กับทุกคนที่ชื่นชมศรัทธา ด้วยมือที่ขยับได้ช้าและยากเย็น มอร์รีก็เลือกที่จะใช้ช่วงชีวิตที่เหลือด้วยเจตจำนงของคนที่เป็นครูจนวาระสุดท้าย ด้วยการสอนให้คนรอบข้าง และใครก็ตามที่พร้อมรับสารที่เขาสื่อ ได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ โดยการเรียนรู้จากความตาย ผ่านชีวิตและมุมมองของคนที่กำลังจะตาย...ตัวเขาเอง
๐
ความตาย ในทัศนะของสังคมสมัยใหม่ ถูกแยกห่างออกจากการมีชีวิตมากขึ้นทุกที ห่างแม้กระทั่งคนที่อยากจะตายก็ไม่อาจตายได้ เช่นในกรณีของแวงซองต์ เอิงแบรต์ เด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้สูญเสียการมองเห็น ความสามารถในการพูด และการเคลื่อนไหวทั้งมวล หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหลือเพียงสติรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง กับแรงกดของนิ้วหัวแม่มือที่จะสื่อสารกับผู้อื่น เขาขอใช้สิทธิ์ที่จะตายไปจากความทุกข์ทรมาน แต่ไม่มีใครช่วยเขาได้ แม้กระทั่งประธานาธิบดีที่เขาเชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพราะความต้องการของเขาขัดต่อกฎหมาย
ในที่สุด แม่คือผู้ที่ให้สิทธิ์นั้นแก่เขา ด้วยความรักที่มีต่อลูก และต้องแลกกับการถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย
กรณีของคนอย่างแวงซองต์ กับคนอย่างอาลี อย่างมอร์รี อาจเป็นเหมือนคนละด้านของการเผชิญกับความตาย แต่มีจุดร่วมกันที่เจตจำนงของคนเป็นเจ้าของชีวิต แวงซองต์เรียกหาสิทธิ์ที่จะจบชีวิตตัวเองเมื่อการอยู่ต่อไปรังแต่จะเป็นภาระแก่ผู้อื่น มอร์รีเลือกที่จะใช้เวลาสองปีที่เหลืออย่างมีความหมายที่สุด เขาได้แสดงให้เห็นว่า ‘กำลังจะตาย’ ต่างความหมายกับ ‘ไร้ประโยชน์’ เพราะในขณะที่ความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทค่อยๆ ทำลายชีวิตของเขาทางกายภาพ ความคิดจิตใจของเขายังคงแจ่มกระจ่างจวบจนลมหายใจสุดท้าย
ศาสตราจารย์มอร์รียังคงไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแบรนเดอิส เช่นเดียวกับที่เขาทำมาตลอดเวลาเกือบสี่สิบปี จนกระทั่งไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านไปสอนได้อีกต่อไป ยังคงเชื้อเชิญญาติ มิตร และศิษย์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่บ้าน ตั้งกลุ่มสนทนาเรื่องความตายและความหมายของชีวิต ยังคงยินดีรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาแก่ทุกคนที่ต้องการ เขียนสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น ‘คติพจน์’ ของการดำรงชีวิต เปิดบ้านให้รายการทีวีได้ถ่ายทอดทัศนะต่อชีวิตและท่าทีต่อความตายไปสู่การใคร่ครวญใหม่ ของคนนับล้าน
ประโยคที่มีชื่อเสียงของมอร์รีคือ “once you learn how to die, you learn how to live” มอร์รีเชื่อว่า การได้เผชิญหน้าและเรียนรู้ความตายจะทำให้เราสามารถฉีกเปลือกนอกของการใช้ชีวิตแบบคนครึ่งหลับครึ่งตื่น มองเห็นแกนในที่เป็นความหมายแท้จริงของการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติสำนึก เขาจึงใช้ช่วงชีวิตตัวเองขณะที่เดินบนสะพานสุดท้ายที่ทอดข้ามไปสู่ความตาย เป็นตัวอย่างประกอบการเรียนรู้ พร้อมกับบรรยายทุกก้าวย่างของเขาด้วยตัวเอง
มอร์รีบอกว่า ความตายเป็นธรรมชาติ ปัญหาคือคนเราในยุคนี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว เราคิดว่าเพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงอยู่เหนือธรรมชาติ และพยายามปฏิเสธกฎธรรมชาติแห่งการก่อเกิดและสิ้นสูญของสรรพสิ่ง เขาบอกว่า “แม้ทุกคนรู้ว่าวันหนึ่งจะต้องตาย แต่ก็พยายามปฏิเสธมัน หากเรายอมรับความตายได้ เราจะทำสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำ”
กับอีกคติหนึ่งที่สั้นและตรงกว่า “ถ้าเรายอมรับว่าเราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะไม่ทะยานอยาก มากเท่าที่เราเป็นอยู่”
๐
วอร์เร็น ซีวอนก็ไม่มีความทะยานอยากอะไรนัก เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าอาการแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออกเกิดจากมะเร็งในเซลล์บุผิวของเยื่อหุ้มปอด และบอกว่าเวลาของเขาเหลืออยู่ประมาณสามเดือน
วอร์เร็นเพียงแต่อยากจะทำอัลบัมใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นให้เสร็จ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับผู้คนที่เขารัก หวังว่าจะทันได้เห็นหลานตาคนแรก และแสวงหาความรื่นรมย์เล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นดูหนังเจมส์ บอนด์ตอนใหม่ เขาได้ทำทุกอย่าง และทำได้มากกว่าที่ต้องการ กับเวลาที่ได้เพิ่มมาจากที่หมอบอกอีกเก้าเดือน
วอร์เร็นไปออกรายการโทรทัศน์ของเดวิด เล็ตเทอร์แมน เล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาและความตายที่กรายใกล้ ทำให้การตายเป็นสิ่งสามัญประจำวันด้วยการเปิดบ้านให้สถานีเคเบิลทีวี VH1 ตั้งกล้องถ่ายทอดภาพชีวิตของเขาไปจนกว่าวันสุดท้ายจะมาถึง และทันได้เห็นอัลบัมสุดท้ายในชีวิตเสร็จออกมาวางขาย
‘The Wind’ อาจจะไม่ใช่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่อัลบัมที่ดีที่สุดของวอร์เร็น แต่เป็นการ กล่าวคำร่่ำลากับทุกคนอย่างงดงาม เขาทบทวนถึงช่วงชีวิตที่เหลวไหลของตัวเองในเพลง ‘Dirty Life And Times’ เล่าถึงเวลานาทีที่เหลือสั้นและมืดหม่นลงทุกทีในเพลง ‘Knockin’ On Heaven’s Door’ และได้แสดงความปรารถนาสุดท้ายด้วยความหวังเล็กๆ ว่าเขาจะยังอยู่ในใจใครบางคน–แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ก็ยังดี ด้วยเพลง Keep Me In You Heart
๐
ในแง่หนึ่ง คนอย่างวอร์เร็น คนอย่างมอร์รี อาจจะโชคดีกว่าคนอีกมากที่ได้รู้ล่วงหน้าว่าวันเวลาในชีวิตเหลืออยู่ไม่มากแล้ว และสามารถกำหนดท่าทีต่อความตาย ต่อการใช้เวลาที่เหลือได้ดังใจปรารถนา
เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ชีวิตเคยพลัดเฉียดกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า ‘ความตาย’ มาครั้งหนึ่ง และยังคงรำลึกได้ว่าในเสี้ยวนาทีที่ห้อยแขวนอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย มีเพียงชะตากรรมเท่านั้นที่ตัดสินว่าจะส่งเราไปยังฝั่งไหน ก็อาจมีมุมมองต่อชีวิต ต่อโลก ที่เปลี่ยนไป และทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
แต่เราคงไม่จำเป็นต้องรอให้ได้แตะเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการมีชีวิตและสิ้นสุด ด้วยตัวเองเสียก่อนจึงตระหนักได้ว่าเวลาแต่ละวันที่ทอดต่อมานับจากนั้น ล้วนเป็นกำไรชีวิตที่ควรใช้ให้สมคุณค่าและเต็มความหมายอย่างไร
ในวันเวลาที่ร้าวรานกับชีวิตที่มัวหม่น แจ็คสัน บราวน์เคยเขียนถึงความหมายของการมีชีวิตไว้อย่างงดงามในเพลง ‘For A Dancer’ ที่เปรียบย่างก้าวของชีวิตกับจังหวะการเต้นรำ ไม่ว่าชะตากรรมจะเลือกเล่นเพลงอะไร คนเราก็ยังสามารถเริงรำเพื่อลบล้างความโศกศัลย์และขับขานเพลงนั้นด้วยเสียงอันเบิกบาน
แจ็คสันบอกว่าเราอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเต้นรำ แต่เราสามารถเรียนรู้จากจังหวะและท่วงท่าของทุกคนที่เราได้เห็น จนกระทั่งกลายเป็นจังหวะและท่วงท่าของเราเอง อีกนัยหนึ่ง แจ็คสันบอกว่าเราต่าง “เติบโตมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ผู้อื่นได้หว่านไว้ / มุ่งไปข้างหน้าและหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ของคุณเอง / และระหว่างเวลาที่คุณมาถึง / กับเวลาที่คุณจากไป / ก็จะวางไว้ซึ่งเหตุผลของการมีชีวิต / แม้คุณอาจจะไม่รู้”
มอร์รีอาจจะเคยฟังหรือไม่เคยฟังเพลงนี้ แต่ถ้าถามเขาว่าเมล็ดพันธุ์อะไรที่คนเราควรเพาะหว่านไว้ให้คนอื่นต่อไป เขาคงตอบได้ทันทีว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความปรารถนาดี และการสนับสนุนพึ่งพากัน เพราะชีวิตของคนเราไม่เคยอยู่รอดได้ด้วยตัวเองลำพัง นับจากวันแรกที่เกิดมาจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
เมล็ดพันธุ์เช่นนี้ยังทำให้ความตายของมนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น มอร์รีบอกว่า “ตราบเท่าที่เรามีความรักต่อกัน และยังคงจดจำความรู้สึกแห่งรักที่เรามี เราจะตายไปโดยไม่ได้ตายจากกัน ความรักที่เราสร้างไว้จะยังคงอยู่ ความทรงจำจะยังคงอยู่ เรายังมีชีวิตอยู่ในใจคนทุกคนที่เราเคยสัมผัสเคยเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน”
“ความตายยุติชีวิต แต่ไม่อาจยุติความสัมพันธ์”
#
Rhymes to learn
- เวลาในชีวิตและความคิดของมอร์รี ชวาร์ตช์ บันทึกไว้อย่างน่าประทับใจโดยลูกศิษย์ของเขา–มิตช์ อัลบอม ในหนังสือ ‘Tuesdays With Morrie’ (1997) ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยไว้ในชื่อ ‘วันอังคารกับครูมอร์รี’ แต่หลายคนแนะนำตรงกันว่า การอ่านจากต้นฉบับ (ซึ่งอ่านไม่ยาก) จะดูดซับความรู้สึกดีๆ ได้ชุ่มเต็มมากกว่า ส่วนงานเขียนของมอร์รีเองคือ ‘Morrie In His Own Words’ (1996) เป็นคติพจน์ที่จัดหมวดหมู่และมีคำอธิบายเพิ่มเติมไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาความคิดของเขาให้ลึกขึ้น
- เรื่องของแวงซองต์ เอิงแบรต์ เรียบเรียงผ่านการสื่อสารด้วยนิ้วหัวแม่มือกดเลือกพยัญชนะทีละตัว ผสมเป็นคำ และต่อกันเป็นประโยค โดยเฟรเดริก แวยล์ ในชื่อ ‘Je vous demande le droit de mourir’ (I Ask For The Right To Die) แปลเป็นไทยโดยวาสนา สุนทรปุระ ในชื่อ ‘ผมขอใช้สิทธิ์ที่จะตาย’ (2547)
- งานเพลงของวอร์เร็น ซีวอนเป็นงานที่ขายอยู่ในวงจำกัด และค่อนข้างหายากในประเทศของเรา รวมทั้งอัลบัม ‘The Wind’ (2003) นี้ด้วย แต่แนวเพลงเฉพาะตัวของวอร์เร็นเป็นที่ยอมรับของศิลปินแถวหน้าอย่างบ็อบ ดีแลน, นีล ยัง, แจ็คสัน บราวน์, บรูซ สปริงสทีน และอยู่ในใจแฟนเพลงที่เหนียวแน่นของเขาเสมอมา
- เพลง ‘For A Dancer’ อยู่ในอัลบัม ‘Late For The Sky’ (1974) ที่ได้รับการยกย่องให้้เป็นอัลบัมยอดเยี่ยมและงดงามที่สุดในยุคแรกของแจ็ค สัน บราวน์ ส่งให้เขากลายเป็นกวีร็อคแถวหน้าของวงการดนตรียุค 1970
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548)