วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทย์เลอร์ สวิฟต์-ดิจิทัลดาวน์โหลด-การดำรงอยู่ของร้านซีดี


ซิงเกิ้ลใหม่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ – “We Are Never Ever Getting Back Together” เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 13 (หรือ 14 สิงหาคม – ขึ้นอยู่กับไทม์โซนที่เราใช้นับ) และใช้เวลา 50 นาที ก็ขึ้นอันดับหนึ่งซิงเกิ้ลชาร์ตของ iTunes พร้อมกับลบสถิติเดิมหนึ่งชั่วโมงที่เลดี้ กาก้า เคยทำไว้กับเพลง “Born This Way” ไปได้ทันที
            จากจุดนั้น ซิงเกิ้ลเพลงชื่อยาวที่เรียกกันย่อๆว่า “WANEGBT” ก็สร้างสถิติใหม่รายทาง ด้วยการเป็นซิงเกิ้ลที่ขายเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงยุคดิจิทัล ขึ้นอันดับหนึ่ง iTunes รวม 32 ประเทศ และนอกจากสถิติอีกมากในชาร์ตเพลงแยกย่อย เพลงนี้ยังส่งเทย์เลอร์ สวิฟต์ ขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ต Billboard Hot 100 เป็นครั้งแรก นับเป็นเพลงท็อปเท็นเพลงที่ 11 ของเธอ ซึ่งเทียบเท่ากับสถิติสูงสุดในสายศิลปินเพลงคันทรี่ที่เคนนี รอเจอร์ส เคยทำไว้ ทั้งหมดนี้มาจากยอดขายดิจิทัลดาวน์โหลดล้วนๆ
            ใน Hot Digital Songs ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงดิจิทัลโดยเฉพาะ ตัวเลข 623,000 ดาวน์โหลด เป็นทั้งยอดขายสูงสุดในสัปดาห์แรก และยอดขายสูงสุดในสัปดาห์ใดๆ สัปดาห์เดียว สำหรับเพลงของศิลปินหญิง ลบสถิติเดิมของเลดี้ กาก้า (เพลง “Born This Way” สัปดาห์แรก 448,000 ดาวน์โหลด) กับ เคชา (เพลง “Tik Tok” ในสัปดาห์ที่ขายมากที่สุด 610,000 ดาวน์โหลด) สัปดาห์ถัดมา “WANEGBT” ยังทำยอดดาวน์โหลดได้กว่า 300,000 ครั้ง รวมเป็น 930,000 ดาวน์โหลด
            ที่ยกเอาสถิติใหม่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาเกริ่นเสียยาว จะถือว่าเป็นอารมณ์ติดพันจากการที่เลือกผลงานของเธอเป็นหนึ่งใน 5 ชอบ เมื่อฉบับที่แล้ว ก็คงจะได้ แต่วัตถุประสงค์จริงๆ ก็เพื่อนำทางไปสู่เรื่องของธุรกิจเพลง ดิจิทัลดาวน์โหลด และร้านขายแผ่นเสียง ที่ยังคงมีหลายแง่มุมน่าสนใจสำหรับคนรักเพลง-ฟังเพลงอย่างเราๆ
ช่วงปลายๆ เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา mashable.com เผยแพร่อินโฟกราฟิกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า How the internet has rockedthe music industry ซึ่งเป็นแผนภูมิข้อมูลที่สรุปทิศทางธุรกิจดนตรีในศตวรรษใหม่ได้อย่างรวบรัดหมดจดทีเดียว
            ประเด็นใหญ่คือการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์และการสตรีมมิงเพลงให้เราได้ฟังกันแบบทันทีทันใจในโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนวิธีซื้อ-ขายและฟังเพลงไปอย่างไร มีผลกระทบอะไร และใครได้-ใครเสีย แน่นอนที่สุดว่า ผู้ที่รับผลกระทบไปก่อนและรับไปเต็มๆ เลยก็คือร้านขายซีดี ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 2000-2010 มียอดขายลดลงไปกว่า 76% และคาดว่านับจากปี 2011 ไปจนถึง 2016 จะลดลงไปอีก 77.4% สอดคล้องกับยอดขายซีดีแบบอัลบั้มที่ลดลงไป 50% ในช่วงปี 2000-2009
            จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สำนักวิจัยธุรกิจไอบิสเวิร์ลด์ ยกให้ธุรกิจค้าปลีกซีดีเป็นหนึ่งในสิบธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ตายไปแล้วหรือกำลังจะตายไปอย่างรวดเร็ว
อินโฟกราฟิกสรุปทิศทางธุรกิจดนตรีในศตวรรษใหม่ที่สื่อ
ออกมาได้รวบรัดชัดเจนดีมาก (เข้าไปดูได้ที่
http://mashable.com/2012/07/24/music-sales-decline/)
            สัญญาณชัดเจนที่อินโฟกราฟิกชิ้นนี้หยิบมาแสดงก็คือ ลำดับเวลาการล้มละลายหายไปของเครือข่ายร้านซีดีใหญ่ๆ เช่น HMV ปิดร้านทั้งหมดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2004 สองปีต่อมา ทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ ก็ปิดร้านทั้ง 89 แห่งในสหรัฐฯ ตามไปอีกราย หลังจากที่บริษัทแม่ได้ยื่นขอล้มละลาย ตามหลังเครือข่ายร้านแซม กูดีส์ ที่ยื่นขอล้มละลายไปก่อนแล้ว และในปี 2009 อีกเช่นกันที่เวอร์จินปิดกิจการร้านเมกะสโตร์ทั้งหมดในอังกฤษ
            ตรงนี้ขอขยายภาพเพิ่มเติมอีกนิดว่า แม้จุดหลักของสัญญาณเหล่านั้นที่แสดงในอินโฟกราฟิกได้เน้นไปที่สหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งเป็นสองตลาดหลัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าตลาดอื่นจะแตกต่างกัน เช่น ในกรณีของ HMV ของอังกฤษ ได้ปิดร้านทั้งหมดในเยอรมันไปก่อนที่จะปิดร้านในสหรัฐฯ เสียอีก หลังจากนั้นก็ขายกิจการในออสเตรเลียเมื่อปี 2005 ส่วนในญี่ปุ่นที่ยังมีชื่อนี้อยู่ ก็ขายกิจการไปตั้งแต่ปี 2007 เช่นเดียวกับที่แคนาดาเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบัน ฐานที่มั่นที่หดเล็กลงเรื่อยๆ ของ HMV เหลืออยู่แต่ในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์
            ส่วนทางด้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ ของสหรัฐฯ หลังยื่นขอล้มละลายในส่วนร้านค้าปลีก ก็ได้ปรับรูปแบบไปเป็นร้านค้าออนไลน์ไปแล้ว ร้านที่เหลืออยู่ 5 แห่งในเม็กซิโก และ 2 แห่งในไอร์แลนด์ เป็นร้านที่ซื้อสิทธิ์เฉพาะการใช้ชื่อเดิมเอาไว้ ส่วนที่มีอยู่มากหน่อยในญี่ปุ่นนั้น กลุ่มผู้บริหารในญี่ปุ่นได้ซื้อกิจการและแยกเป็นอิสระมาตั้งแต่ปี 2002
            แซม กูดีส์ เป็นเครือข่ายร้านขายซีดีที่เราไม่คุ้นเคยด้วยเท่าไหร่ แต่เป็นเครือข่ายร้านขนาดใหญ่ของกลุ่มมิวสิคแลนด์ในสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่เฟื่องฟูที่สุดมีร้านค้าปลีกทุกแบรนด์รวมกันมากกว่า 1,300 ร้าน แต่เมื่อธุรกิจมีปัญหา ไม่เพียงแต่ร้านแซม กูดีส์เท่านั้นที่หายไป มิวสิคแลนด์ยังขายกิจการออกไปทั้งหมด
            ที่ยังดูดีบ้างอยู่ก็คือ เวอร์จินเมกะสโตร์ ซึ่งยังมีร้านค้าอยู่มากกว่า 100 สาขา ในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และในตะวันออกกลาง ทั้งยังมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ในพื้นที่ที่เวอร์จินเมกะสโตร์เคยเฟื่องฟู ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ และโซนเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนที่บริหารโดยเวอร์จินกรุ๊ปของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ทยอยปิดกันไปหมดแล้ว ในญี่ปุ่นก็แปลงโฉมเป็นสึทะยะ ส่วนที่เหลือก็แยกเจ้าของและผู้บริหารกันไปเป็นรายประเทศ
ในขณะที่ยอดขายแผ่นเสียงลดลง ยอดดาวน์โหลดเพลงแบบถูกกฎหมายก็โตขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุดของปี 2011 ยอดขายซีดีลดลง 5% แต่ยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 8.4% และเมื่อข้ามมาเดือนมกราคม 2012 ยอดขายแบบดิจิทัลดาวน์โหลดก็มีส่วนแบ่งในตลาดเพลงรวมเพิ่มขึ้นเป็น 50.3% เอาชนะยอดขายแผ่นเสียงทุกรูปแบบรวมกันได้เป็นครั้งแรก
            เมื่อย้อนกลับไปถึงวันที่โลกเริ่มรู้จักไฟล์เพลง MP3 และการแชร์ไฟล์เพลงผ่านแนปสเตอร์ ก็ใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าที่เพลงในรูปแบบดิจิทัลจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นความจริงที่ว่า ถ้านับเอาการดาวน์โหลดที่ละเมิดลิขสิทธิ์รวมด้วย เพลงในรูปแบบดิจิทัลชนะไปนานหลายปีแล้ว แต่การนับแบบนั้นก็ไม่ได้มีความหมายมากนักในแง่การศึกษารูปรอยธุรกิจดนตรี นอกไปจากการสะท้อนความพร้อมและความสามารถในการละเมิดลิขสิทธิ์ของเราเอง
            ต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนขึ้นศตวรรษใหม่ เครื่องเล่นไฟล์เพลง MP3 อย่าง Rio รวมทั้งเครื่องซีรี่ส์ต่างๆ ของบริษัทไอริเวอร์แห่งเกาหลี และครีเอทีฟของสิงคโปร์ มีผลต่อความนิยมในไฟล์เพลง MP3 ที่ขยายกว้างออกไปจากการฟังผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ และเปลี่ยนแบบแผนการฟังเพลงอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นเครื่องเล่น iPod และระบบนิเวศของการแปลงไฟล์-ริพแผ่น-ซื้อขายเพลงในชื่อ iTune ของแอปเปิ้ล ก็มาต่อยอดและปรับโครงสร้างให้คนฟังเพลง-ศิลปิน-บริษัทแผ่นเสียงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสมประโยชน์กันทุกฝ่าย
            แต่การซื้อขายเพลงในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากแผ่นซีดีเป็นดิจิทัลดาวน์โหลด ก็ได้เปลี่ยนแบบแผนการฟังและการซื้อขายเพลงไปด้วย กรณีของเพลง “WANEGBT” ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่าการขายซิงเกิ้ลกลับมามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
            จนถึงขณะนี้ ซิงเกิ้ลที่มียอดดาวน์โหลดเกิน 5 ล้าน มีมากกว่า 80 เพลง (เทียบกับซิงเกิ้ลในยุคแผ่นไวนิล 7 นิ้วและซีดีซิงเกิ้ล มีอยู่ประมาณ 110 เพลง) เฉพาะเพลงที่ดาวน์โหลดกันเกิน 10 ล้านครั้ง ก็เป็นเพลงที่ออกในช่วงปี 2010-2011 ไปแล้ว 4 เพลงจาก 9 เพลง ที่เหลือก็ไม่เก่าไปกว่าเพลงของปี 2006 สถิติและแนวโน้มเช่นนี้ แม้จะไม่ถึงขั้นย้อนยุคกลับไปสู่ยุคบุกเบิกร็อคแอนด์โรลล์ตอนกลางทศวรรษ 1950 ก็ตาม แต่ก็ท้าทายศิลปินที่มุ่งทำเพลงขายทั้งอัลบั้มมากขึ้นเรื่อยๆ
            การที่กรีนเดย์ประกาศออกอัลบั้มไตรภาค 3 แผ่น ในชื่อ ¡Uno!, ¡Dos!, และ ¡Tré! ซึ่งจะไล่เรียงกันมาตามลำดับในวันที่ 25 กันยายน, 13 พฤศจิกายน ปีนี้ และ 15 มกราคม ปีหน้า จึงถือว่าเป็นความทะเยอทะยานที่ท้าทายวงการดนตรีมากที่สุดในรอบหลายๆปี และน่าติดตามดูผลลัพธ์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเตร็ดเตร่อยู่ทางตอนบนของเกาะคิวชู ของแถมที่ได้มาจากการเดินทางคือการสำรวจร้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
            ผมเคยเข้าทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ซึ่งหาเจอได้ไม่ยากในโตเกียว ในโอซาก้า แต่ไม่คิดมาก่อนว่าในเมืองที่มีขนาดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 1,500,000 คน อย่างฟุกุโอกะ จะมีร้านทาวเวอร์ฯ กระจายอยู่อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เห็นก็ 3 แห่ง และเมืองที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคนอย่างนางาซากิ ก็ยังมีทาวเวอร์ฯ อย่างน้อย 1 สาขาเปิดรับผมอยู่ที่สถานีรถไฟ
แอบถ่าย (เพราะขอแล้วทางร้านไม่ยอมให้ถ่าย) ร้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
ในย่านเทนจิน ฟุกุโอกะ
            เท่าที่สำรวจดูในร้าน และกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ผมแน่ใจว่า นอกจากญี่ปุ่นจะกลายเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของร้านแผ่นเสียงในชื่อนี้แล้ว ยังน่าจะเป็นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับธุรกิจค้าปลีกซีดีด้วย เหตุผลไม่ได้มีเฉพาะแต่จำนวนสาขาของทาวเวอร์ฯ ประมาณ 80 แห่ง แต่ยังยึดโยงกับวิธีการฟังเพลง-ซื้อเพลง และน่าจะเลยรวมไปถึงวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนที่นั่นด้วย
            แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้ล้าหลังทางเทคโนโลยีแน่ๆ แต่สิ่งที่คนญี่ปุ่นมีคือวัฒนธรรมการฟังเพลงแบบจริงจัง ด้านหนึ่งนั้นอย่างที่เรารู้กันว่านี่คือประเทศที่มีนักฟังเพลงระดับออดิโอไฟล์ที่เอาจริงเอาจังกับคุณภาพเสียงมากที่สุดประเทศหนึ่ง อีกด้านหนึ่งคือการศึกษาทางดนตรี ซึ่งอย่างเป็นทางการนั้นเราเห็นได้จากเยาวชนของเขาที่มีพื้นฐานทางดนตรีและการเล่นดนตรีในระดับดีเยี่ยม และอย่างไม่เป็นทางการนั้น อาจเห็นได้จากร้านอย่างทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
            ร้านที่ผมเข้าไปสำรวจอยู่ในย่านเท็นจิน มีอยู่สองชั้น พื้นที่รวมกันน่าจะมากกว่าทาวเวอร์ฯ สยามเซ็นเตอร์  (ถ้าหากความจำผมยังพอใช้อ้างอิงได้) ชั้นล่างเป็นเพลงญี่ปุ่น ชั้นบนเป็นเพลงนานาชาติ จุดสนใจแรกสุดที่ดึงดูดผมเข้าไปก็คือแผนกหนังสือ นิตยสารและหนังสือดนตรีโดยเฉพาะดนตรีตะวันตก แต่พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น – มีเยอะมาก
            หากนั่นยังไม่พอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยฟังเพลงมากกว่าเพื่อความบันเทิง ลองเชื่อมโยงกับการดิสเพลย์แผ่นซีดีแนะนำดนตรีแขนงต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าที่ผมเคยเห็นหรือเคยคิด สมมติว่าผมอยากจะทำความรู้จักกับเพลงยุคบิ๊กแบนด์ ผมก็สามารถเริ่มต้นจากงานรวมเพลงของยุคนั้นที่คัดสรรค์ออกมาเป็นซีดีชุด 4 แผ่น ราคาประหยัดเหมาะกับผู้เริ่มต้น ถ้าเกิดชอบใจแล้วก็สามารถมาตามหางานของศิลปินคนที่ชอบเป็นพิเศษ ซึ่งจัดหมวดหมู่เอาไว้เป็นระเบียบและมีให้เลือกมากพอในเกือบทุกแนวเพลง
            คงเป็นด้วยเงื่อนไขและวิธีการเช่นนี้เอง ร้านซีดีในญี่ปุ่นจึงยังตั้งมั่นและคงอยู่อย่างมีชีวิตชีวา
#
7 กันยายน 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555)