วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำเน่า

จากปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงกลางเดือนมกราคม 2555
บนเส้นทางน้ำที่ค่อยๆ เคลื่อนจากปลายภาคเหนือ ลงมาถึงกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
พรากชีวิตคนไป 815 คน มีผู้ประสบภัย 13,600,000 คน
พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร
นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 แห่งจมอยู่ใต้น้ำ กระทบห่วงโซ่อุปทานไปทั้งโลก 
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และฮาร์ดดิสก์
ธนาคารโลกประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 1,425,000,000,000 บาท
เป็นหายนภัยที่เสียหายร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก 
เป็นรองก็แต่ แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554, 
แผ่นดินไหวที่โกเบ พ.ศ. 2538 และ พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา พ.ศ. 2548 
สิ่งที่ต่างกันก็คือ ภัยพิบัติเหล่านั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเฉียบพลันทันที
และไม่มีเวลาเหลือเฟือให้ "เอาอยู่" "โกงอยู่" หรือ "ช่วยพี่ชายอยู่"
หากเรายอมรับวาทกรรมที่ว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว “ดีแต่พูด”
            ด้วยเกณฑ์ชี้วัดชุดเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ “เลวทั้งการกระทำและคำพูด” และยังรวมไปถึง “การไม่กระทำ” ในสิ่งที่พึงกระทำด้วย
๐ 
Credit: www.dvidshub.net
น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ (พ.ศ. 2554) สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ และคนของรัฐบาลชุดนี้ ทำมากที่สุด – และเลวที่สุด – ก็คือการยกโยนความผิดไปให้ผู้อื่นอย่างปราศจากความละอาย
            แรกๆ ก็อ้างกันส่งๆ ว่า รัฐบาลที่แล้ววางยาไม่ยอมระบายน้ำจากเขื่อน ซึ่งเด็กประถมฟังก็ยังสงสัยว่า รัฐบาลชุดที่แล้วเขาตั้งอกตั้งใจจะไปเป็นฝ่ายค้านถึงขนาดวางแผนแกล้งแพ้เลือกตั้งกันเลยหรือ? ส่วนเด็กมัธยมก็งงไปอีกแบบว่า แล้วรัฐมนตรีที่ดูแลเขื่อนและกรมชลประทานของรัฐบาลชุดก่อนกับชุดปัจจุบัน เป็นคนละคนแต่บังเอิญมีชื่อนามสกุลเหมือนกันหรืออย่างไร?
            แต่ที่เลวกว่าคือความพยายามอย่างเป็นขบวนการที่จะกล่าวโทษการกักน้ำและระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อย่างมีนัยสำคัญที่ชื่อเขื่อน ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งถึงกับกล่าวโทษน้ำจาก..... และจาก..... โดยไม่มีคำว่าเขื่อน คนมีตำแหน่งขนาดนั้นพูดผ่านสื่อทางการอย่างนั้นแล้ว สื่อวิทยุชุมชนกับสื่อในโลกไซเบอร์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
            (ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การกล่าวหาโดยนัยทั้งหมดนี้ รัฐบาลไม่ได้แสดงความอนาทรร้อนใจใดๆ แม้สักเสี้ยวของการแฮ็คทวิตเตอร์นายกฯ หรือการบีบให้ลบเนื้อหาในบล็อกที่เขียนแฉการฉ้อฉลของบริจาคภายใน ศปภ.)
            เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก เมื่อนายกรัฐมนตรีมาแสดงตนประหนึ่งได้สมรู้ร่วมคิด ปิดเกมด้วยประโยคที่ว่า “เมื่อมารับตำแหน่ง น้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว” ก็เป็นอันสิ้นสงสัยในความพยายามที่จะชูวาทกรรมว่ามีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลโดยผ่าน “รัฐประหารน้ำ” หรือ “วารีภิวัฒน์”
            เธอไม่ได้พูดประโยคนี้ตอนเพิ่งเข้ามาเป็นนายกฯ (8 ส.ค. 2554) หรือตอนประดิษฐ์คำว่า “บางระกำโมเดล” (20 ส.ค. 2554) แต่เธอพูดประโยคนี้ วันที่ 2 พ.ย. 2554 นี้เอง
๐ 
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เรื่องโง่ๆ แบบนั้นหลอกได้แต่พวกเดียวกันเองที่ไม่รู้จักใช้ความคิด หรือพวกประสาทอ่อน
            อีกด้านหนึ่ง จึงมีความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะใช้ตัวเลขอันเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดมาอ้างอิง ทั้งปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อน ปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อน แรกๆ ก็แยกส่วนบ้าง ตัดตอนบ้าง หาค่าเฉลี่ยบ้าง จริงบ้าง มั่วบ้าง พอให้ขำบ้าง ให้สมเพชบ้าง 
            ที่น่าขำก็เช่น ความพยายามที่จะโพทนาว่าเป็นภัยธรรมชาติ เป็นปีที่มีฝนตกมากกว่าที่คิด มีน้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ พยายามกันมากจนไปขัดกันเองกับที่พยายามกล่าวโทษอีกฝ่ายไว้ในข้อหากักเก็บน้ำไว้ล้มรัฐบาล 
            หรืออย่างความพยายามที่จะหาค่าเฉลี่ย 3 ปี 5 ปี 10 ปี จนไม่รู้ว่าจะเฉลี่ยเพื่ออวดฉลาดหรืออวดอะไร เพราะในกรณีแบบนี้ เทียบปีต่อปีระหว่างปีที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้เห็นขนาดของปัญหาโดยเปรียบเทียบก็พอ จะเอาตัวเลขในปีที่มีปัญหาภัยแล้งมาเฉลี่ยเพื่อ.....? อันนี้ออกไปทางกึ่งขำกึ่งสมเพช 
            ส่วนที่น่าสมเพชล้วนๆ ก็เช่น ในบทความชิ้นเดียวกัน พยายามปกป้องรัฐบาลโดยการอ้างปริมาณน้ำฝนในที่ราบลุ่มภาคกลาง และอ้างการซ้ำเติมจากปริมาณน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนทางภาคเหนือ แต่กลับลืมอ้างปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนทางภาคเหนือที่เป็นตัวแปรในการระบายน้ำจากเขื่อนไปเสียเฉยๆ 
            สุดท้ายก็พัฒนาพ้นจากความน่าขำ น่าสมเพช ไปเป็นความมดเท็จ จากจริงบ้าง มั่วบ้าง ไปเป็นการแต่งตัวเลข-ปั้นข้อมูลใหม่ให้ได้ดั่งใจไปเลย 
            ประเด็นนี้ ผมเคยบอกกับคนที่งุนงงกับตัวเลขที่อ้างกันไปมาแต่ไม่ตรงกันว่า เราไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันเรื่องข้อมูล ที่เราอาจจะเข้าไม่ถึงบ้าง ไม่รู้ว่าใครตกแต่ง-บิดเบือนอะไรบ้าง เรามาดูลำดับการเดินทางของน้ำ และดูการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกัน ก็พอแล้วที่จะสรุปได้ว่ารัฐบาลทำ-หรือไม่ทำ อะไร เมื่อไร อย่างไร และผลลัพธ์ของการกระทำ-หรือไม่กระทำนั้น เป็นอย่างไร
            เราหาความจริงกันได้ไม่ยากหรอกครับ แค่เปิดหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ค้นหาข่าวหน้า 1 ย้อนหลังก็รู้แล้ว 
๐ 
ถ้าไม่แน่ใจเรื่องฝักฝ่ายของสื่อ ผมแนะนำให้ค้นจากข่าวหน้า 1 ของไทยรัฐออนไลน์ก็ได้ แต่ต้องมีเทคนิคบ้าง
            ผมให้ Google เสิร์ชคำว่า หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2554 – ข่าวไทยรัฐออนไลน์ ตัวเลือกแรกจะพาเราตรงไปที่หน้าเว็บของไทยรัฐฉบับที่ระบุ เป็นไฟล์รูปหน้า 1 ของนสพ.ฉบับวางขาย คลิกอ่านรายละเอียดทุกข่าวได้เหมือนฉบับพิมพ์ทุกประการ (แต่ต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยกรอกข้อมูลตามที่กำหนด หรือใช้บัญชีผู้ใช้ facebook แทนก็ได้) แล้วผมก็ได้รู้ว่า ภารกิจแรกของรัฐบาลที่เพิ่งเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ (เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2554) ว่า “จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ“ ก็คือการขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดี (เลขา ครม.ญี่ปุ่นแจงเหตุออกวีซ่า “ทักษิณ ชินวัตร” ระบุไทยร้องขออนุญาตให้เข้าประเทศ “นายกฯยิ่งลักษณ์” ยันไม่มีนโยบายพิเศษช่วยพี่ชาย)
            เมื่อเปลี่ยนวันที่เป็น 21 สิงหาคม 2554 ก็จะเจอพาดหัวรอง บางระกำโมเดล แก้น้ำท่วม ตามมาด้วยข้อความ ยิ่งลักษณ์ตั้งวอร์รูม น้ำท่วม ‘อยุธยา’ แล้ว มาวันที่ 27 ส.ค. 2554 เตือนน้ำเหนือ 5 วันถึงอยุธยา ส่วนวันที่ 31 ส.ค. 2554 ก็เจอข่าว แดงได้เก้าอี้ทั่วหน้า อารีเลขามท.1-เจ๋งผู้ช่วย
            ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2554 ข่าวย่อยบอกว่า “สถานการณ์น้ำท่วมพิษณุโลก พิจิตร เข้าขั้นวิกฤติ” ส่วนพาดหัว บอก ‘วิเชียร’ น้ำตาคลอ! ยันถูกบีบ ทำลายองค์กรตำรวจ ถัดมา วันที่ 5 ก.ย. 2554 ล้างบางมหาดไทย เด้งปลัด พร้อมกับข่าว น้ำทะลักท่วมปทุมแล้ว
            มาฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2554 เฉลิมออกหน้าชน แจงฎีกาอภัยโทษ “ทักษิณ’ / อ่างทองอ่วมหนัก ระดับน้ำเจ้าพระยาเกินจุดวิกฤติ ส่วนข่าวน้ำท่วม ระบุว่า ‘ธีระ’ สั่งกรมชลฯ ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และหน่วงน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้ชาวนาในเขตลุ่มเจ้าพระยาเก็บเกี่ยวข้าว
            ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการระบายและไม่ระบายน้ำจากเขื่อนที่โทษกันไปมา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่า การระบายน้ำจากเขื่อนอยู่ในความรับรู้และใต้อำนาจสั่งการของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันทั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ถ้าจะมีใครมีอำนาจเหนือ รมว. เกษตรฯ สั่งการเป็นอื่น โดยที่ รมว.ไม่กล้าเปิดเผยความจริง รมว.ก็สมควรที่จะเป็นแพะรับผิดไป ไม่ใช่ยกโยนให้คนอื่น
             ถ้ายังสนุกกับการค้นหาความจริงอยู่ก็เสิร์ชไปเรื่อยๆ นะครับ ก็จะเจอข่าว “ยิ่งลักษณ์” เดินทางเยือนกัมพูชา หารือ“ฮุน เซน” ฟื้นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ สุดปลื้มคุยโอ่เป็นการเปิดศักราชใหม่ (ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2554) ถ้าสงสัยว่าศักราชใหม่แบบไหน ก็ดูตรงนี้ “เมื่อถามว่ารัฐบาลคิดว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเราหรือไม่ นายกฯตอบว่า ตรงนี้เรายังพูดไม่ได้... เมื่อถามว่าแต่สมเด็จฮุน เซน บอกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า การยืนยันคนละประเภทกัน” (17 ก.ย. 2554) ในขณะที่ความเสียหายจากน้ำท่วมก็เพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น
            ค้นไปเถอะครับ เราจะรู้ทั้งหมดนั่นแหละ ว่านิคมอุตสาหกรรมทยอยกันจมน้ำวันไหน รัฐบาลเพิ่งตื่นมาตั้ง ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม) เมื่อไร (ไม่ต้องพูดถึงว่าเพียงการตั้งชื่อศูนย์ก็สะท้อนวิสัยทัศน์ในการรับมือกับปัญหาอย่างไร) ศูนย์ที่ว่านี้ให้ข้อมูลที่ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง ของรัฐบาล และของประเทศชาติได้ขนาดไหน จัดการกับของบริจาคได้มีประสิทธิภาพเพียงไร อาสาสมัครต้องถอนตัวออกมาเพราะอะไร คนของรัฐบาลฉ้อฉลกันด้วยวิธีไหนบ้าง ทิ้งของบริจาคและผู้ที่มาพักพิงในศูนย์กันอย่างน่าอเน็จอนาถอย่างไร ในวันที่ต้องหนีน้ำอย่างฉุกละหุกเพียงเพราะผู้นำเห็นว่าการย้ายศูนย์เป็นความพ่ายแพ้และเสียหน้า
            รวมทั้งบทบาทการแก้ไขน้ำท่วมของรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งแม้ว่าจะหายากสักหน่อย แต่ก็ยังพอเห็นถึงความความกระตือรือร้นของแต่ละกระทรวงในการเตรียมตั้งงบประมาณเพื่อการฟื้นฟู ซึ่งในที่สุดก็สามารถ “บูรณาการ” เป็นงบ 800,000,000,000 บาท ภายใต้ชื่อ New Thailand ที่เราต่างก็เข้าใจตรงกันว่าหมายถึง “รัฐไทยใหม่”
๐ 
มีคนบอกว่า เราอาจวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็ไม่ควรไปด่าว่าเธอด้วยคำว่า “โง่”
            ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุดวุฒิการศึกษาของเธอก็สำเร็จปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการกล่าวหาว่าเธอโง่ ก็จะทำให้คนหลายสิบล้านที่เลือกเธอ และ/หรือ สนับสนุนเธอพลอยสะเทือนใจไปด้วย
            ผมยังมองข้ามความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรือดันน้ำ/เรือดำน้ำ หญ้าแฝก/หญ้าแพ(ร)ก กระทั่ง เดือนพฤศจิกาคม ไป เพราะเข้าใจว่า บางครั้งนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมาจากกิจการที่พี่ชายวางคนทำงานเก่งๆ ไว้ให้พร้อม ก็อาจพลาดในเรื่องที่ตัวเองไม่ค่อยเข้าใจได้เสมอ โดยเฉพาะถ้าเขาหรือเธอเป็นคนที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความสามารถค่อนข้างจำกัดมาตั้งแต่สมัยบริหารบริษัทขายสื่อโฆษณา
            แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่มองว่าเธอน่าสงสาร เป็นหุ่นเชิด เป็นโคลนนิ่ง เป็นอะไรก็ตามแต่ ที่คิดเองไม่ได้ ทำเองไม่เป็น เพราะถึงกระนั้น เธอก็ดูมีความสุขดีกับการใช้อำนาจตามตำแหน่ง การออกคำสั่ง การกล่าวโทษผู้อื่น และการทำในสิ่งที่คนไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่อาจกระทำ
            ดูตัวอย่างได้จากภาพที่เธอหัวเราะร่วนกับหลานสาวที่ ศปภ. คลิปที่เธอหนีนักข่าวเข้าไปหัวเราะในลิฟต์ ข่าวที่เธอภูมิใจนำเสนอให้การประปานครหลวงผลิตน้ำประปาเพิ่มเนื่องจากมีน้ำทะลักเข้าคลองประปา (คืนวันที่ 20 ต.ค. 2554) ฯลฯ
            เธอไม่ได้โง่ เธอไม่ได้น่าสงสาร เพียงแต่เธอมีปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่เรียกกันว่า “วุฒิภาวะ” และเธอไม่สามารถปิดบังมันไว้ได้ ก็เท่านั้นเอง
5 พฤศจิกายน 2554

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2554)

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประเทศไทยไม่โชคดีเหมือนเซียวฮื้อยี้

โชคดีของยิ่งลักษณ์ที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนสิบห้าล้านคนเลือกเธอมา
โชคร้ายของประเทศไทยที่ได้ผู้ที่มีปัญหาวุฒิภาวะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
โชคดีของยิ่งลักษณ์ที่ผลกรุงเทพโพลล์ในวันครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล (5 สิงหาคม 2555)
ระบุว่าประชาชนร้อยละ 70.4 ต้องการให้เธอทำงานต่อ
โชคร้ายของของประเทศไทยที่ "ความหายนะมวลรวมประชาชาติ" จะยังดำเนินต่อไป
หลายปีก่อน มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งขอให้ผมเขียนถึง “ผู้หญิงของจอมยุทธ์” สักคนหนึ่ง และผมก็นึกถึงหญิงผู้เป็นร่างแหที่คลุมรัดลูกปลาน้อย-เซียวฮื้อยี้
            โชคดี-ที่นักเขียนคนอื่น(ยัง)ไม่มีใครเลือกโซวเอ็ง โชคร้าย-ที่เมื่อผมเขียนเสร็จ สำนักพิมพ์ที่ขอไว้และรับไป ก็หายสาบสูญไปจากโลกของผม – เช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีอยู่ก่อนหน้านั้น
            แต่ผมก็รักข้อเขียนชิ้นนี้เสมอมา และหวังอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่ง จะมีโอกาสนำเสนอต่อผู้อ่านจำนวนมากกว่านิ้วบนมือ
ในห้วงยามที่มีผู้นำเป็นสตรี จากการเลือกแล้วของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนสิบห้าล้าน
            ทั้งยังคงเป็นที่เชิดชูบูชาเสมอมา ของสื่อคุณภาพ และนักวิชาการฉลาดเฉลียว แม้จะเป็นที่ตระหนักแน่ในความไร้ซึ่งสติปัญญาและวุฒิภาวะของเธอ อันนำมาทั้งความน่าอับอายในระดับนานาชาติ และความหายนะมวลรวมประชาชาติ
            ถือว่าเป็นโชคดีของเธอ แต่ปัญหาคือ เธอเป็นโชคร้ายของประเทศไทย
            ในทางกลับกัน เธอยิ่งทำให้ผมนึกถึงโซวเอ็ง ผู้หญิงที่เฉลียวฉลาด เด็ดเดี่ยว เชื่อมั่นในสติปัญญาตนเอง รู้กาละ รู้เทศะ และรู้เท่าทันเสมอ เป็นผู้หญิงที่โก้วเล้งสร้างขึ้นมาเอง แล้วในที่สุดก็เขียนถึงเองว่า เซียวฮื้อยี้โชคดียิ่ง ...
กว่าที่โซวเอ็งจะปรากฏตัว การผจญภัยของเซียวฮื้อยี้ก็ดำเนินไปค่อนเรื่องแล้ว
            นอกจากเรื่องราว/เหตุการณ์มากหลาย ผู้คนมากมาย เซียวฮื้อยี้ยังผ่านพบและเกี่ยวข้องกับสตรีมากหน้า ซึ่งหลายคนไม่อาจพบผ่านเพื่อลืมเลือน
            ทิซิมลั้ง หนึ่ง, เทพธิดาน้อย-เตียแซ หนึ่ง, ม่อย้งเก้า อีกหนึ่ง ล้วนเป็นสาวงามที่ดึงดูดใจ ทั้งมีวิชาฝีมือที่สูงส่งสูงกว่าเซียวฮื้อยี้เมื่อแรกที่เพิ่งออกจากหุบเขาคนโหด และต่างมีคุณสมบัติที่อาจสามารถครองใจเขาได้ทั้งสิ้น
            ในจำนวนนี้ ทิซิมลั้งมีบทบาทอยู่ในชะตาของเซียวฮื้อยี้มากที่สุด ไม่อาจบอกได้ว่านางไม่ได้รักเซียวฮื้อยี้ หรือว่าเซียวฮื้อยี้ไม่ได้รักนาง เพียงแต่ความในใจยังไม่ได้เปิดออก และยิ่งคลุมเครือเมื่อมีฮวยบ้อข่วยเข้ามาเกี่ยวข้อง
            เป็นโซวเอ็งที่มาจัดแปรความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสามให้กระจ่างชัดเจนขึ้น ทำให้ทุกคนค่อยๆ หยั่งถึงความรู้สึกจริงแท้ระหว่างกัน ด้วยความตั้งใจแน่วแน่/เปิดเผยเพียงประการเดียวของเธอ ซึ่งอาจสรุปด้วยประโยคที่เธอบอกกับพวกเจ้าจอมโหดที่เลี้ยงดูเซียวฮื้อยี้มา ข้าพเจ้ามิใช่เพียงแต่คิด (แต่งงานกับเซียวฮื้อยี้) ข้าพเจ้ามิอาจไม่แต่งงานกับเขา
            ตั้งแต่วันแรกที่ถือกำเนิด เซียวฮื้อยี้ก็เป็นเช่นลูกปลาน้อยที่เล็ดลอดจากร่างแหแห่งภยันตรายถึงชีวิตมาได้นับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งด้วยโชคชะตา บางคราวด้วยสติปัญญา แต่ภายใต้ร่างแหอันถี่ถ้วนของโซวเอ็ง เซียวฮื้อยี้ไม่อาจหนีพ้น
โก้วเล้งแนะนำโซวเอ็งต่อผู้อ่านครั้งแรก ผ่านแป๊ะฮูหยินเมื่อลวงให้ฮวยบ้อข่วยไปขอการรักษาจากนาง ลับหลังฮวยบ้อข่วย แป๊ะซัวกุนบอกกับกังเง็กนึ้งว่า ไม่ถึงสามวันรับรองต้องบ่งบอกเคล็ดลับของวิชาตอนต่อบุปผาเชื่อมโยงหยกออกมา
            โซวเอ็งไม่ได้มีวิชาฝีมือสูงส่งที่จะเค้นคั้นผู้คน โก้วเล้งถึงกับจงใจให้โซวเอ็งไม่มีวิชาฝีมือใดๆ เพื่อจะขับเน้นไหวพริบสติปัญญาของเธอให้โดดเด่น ซึ่งประจักษ์ชัดในอีกไม่นานหลังจากนั้น จากทั้งหลุมพรางที่เธอขุดล่อให้ฮวยบ้อข่วยคายเคล็ดลับวิชาที่ไม่อาจแพร่งพราย ทั้งวิธีที่เธอจัดการกับสองสามีภรรยาแซ่แป๊ะ และกับกังเง็กนึ้งผู้มากเล่ห์เพทุบายถึงขนาดเคยทำให้เซียวฮื้อยี้เสียทีมาแล้ว
            ฉากแรกที่โซวเอ็งปรากฏตัว อยู่ในหุบเขาลับที่เธอพำนัก จากสายตาของฮวยบ้อข่วย ผู้อ่านได้เห็นภาพจากระยะไกลเป็นเงาร่างอ้อนแอ้นริมธารน้ำ นางนิ่งก้มศีรษะอยู่ที่นั้น คล้ายครุ่นคิดคำนึงและคล้ายพร่ำพรรณนาถึงวัยสาวที่เลือนลับ ความอ้างว้างในป่าเขา ต่อมัจฉาที่แหวกว่ายในสายธาร
            นั่นคือการเผยแสดงบุคลิกด้านที่โดดเดี่ยวของเด็กกำพร้าที่งุ่ยบ้อแง้รับมาเลี้ยงดู และให้แยกอยู่ตามลำพังโดยไม่มีใครกล้าตอแยสิ่งที่ถือเป็น ของวิเศษของหนึ่งในสิบสองนักษัตรที่ร้ายกาจที่สุด
            ภาพต่อมา เมื่อโซวเอ็งเหลียวมามอง เราก็ได้พบกับสาวงามที่สามารถกลบข่มสีสันของดอกไม้ในหุบเขา แต่โก้วเล้งก็ระมัดระวังไม่ให้โซวเอ็งงดงามหมดจดจนเกินไป อาจบางทีนางไม่สดใสสะคราญเช่นทิซิมลั้ง ไม่งามซึ้งตรึงตราเช่นม่อย้งเก้า และไม่งดงามเฉิดฉายเช่นเทพธิดาน้อย...เพราะเขามุ่งจะขับเน้นบุคลิกด้านอื่นของโซวเอ็งที่สะกดตรึงผู้คนยิ่งกว่าความงาม
            เทพธิดาน้อยเป็นตัวละครหนึ่งที่โก้วเล้งใช้เพื่อการนี้ เธอกล่าวถึงโซวเอ็งเมื่อแรกเห็นว่าเป็นเพียง ทารกหญิงที่มีศีรษะใหญ่โต ไม่งดงามแม้แต่น้อยเมื่อคำนึงถึงความงามดั่งเทพธิดาของเตียแซ กับเยื่อใยที่เคยมีระหว่างเธอกับเซียวฮื้อยี้ ใครก็ไม่อาจตำหนิที่เธอนึกหัวเราะเยาะลูกปลาน้อยว่าเลือกไปเลือกมาก็ได้แค่นี้เอง แต่ ภายหลังข้าพเจ้ายิ่งมายิ่งรู้สึกว่า ทารกหญิงนั้นประเสริฐยิ่ง ทุกยิ้มแย้ม ทุกความเคลื่อนไหว ไม่อาจค้นหาข้อบกพร่องได้ แม้แต่ข้าพเจ้าเห็นแล้วยังหวั่นใจ
            บุคลิกภาพของโซวเอ็งมีทั้งด้านที่สูงสง่าจนบางครั้งดูยโส เย็นชา ตามที่งุ่ยบ้อแง้เลี้ยงมาด้วยจงใจให้เป็นภาพแทนของสองประมุขวังตอนต่อบุปผา  ด้านที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในสติปัญญาและความสามารถในการอ่านความคิดผู้คน ด้านที่เด็ดเดี่ยวของผู้ที่หยั่งถึงความต้องการที่แท้จริงของตน ในขณะเดียวกันก็มีต้านที่เปิดเผยมีชีวิตชีวา และด้านที่พลิกแพลงยากโต้แย้งยากปฏิเสธ
            แม้แต่ชื่อโซวเอ็ง ก็มีนัยที่โก้วเล้งเลือกมาอย่างมีความหมาย คำว่า เอ็งความหมายหนึ่งคือความองอาจ อย่างที่ฮวยบ้อข่วยเข้าใจเมื่อแรกได้ยินชื่อ แต่ความหมายที่แท้จริงคือเชอรี่จีนอันหอมหวาน
ด้วยบุคลิกเหล่านั้นที่ประกอบรวมเป็นโซวเอ็ง ทำให้โก้วเล้งสามารถสร้างแบบฉบับของผู้หญิงก่อนกาลสมัย ที่กล้ารัก กล้าเปิดเผย โดยไม่ทำให้ผู้อ่านเดียดฉันท์ หรือทำให้ตัวละครดูด้อยค่า
            ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เซียวฮื้อยี้เป็นที่ต้องตาของโซวเอ็งตั้งแต่แรกเห็นเขาเข้าไปเผชิญกับงุ่ยบ้อแง้ในถ้ำมุสิก เพราะลูกปลาน้อยมีความสามารถในการดึงดูดใจผู้คนเสมอมา การที่โซวเอ็งลอบช่วยเหลือรักษาเขาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทิเพี้ยโกวก็เคยช่วยเซียวฮื้อยี้หลบหนีจากประมุขวังตอนต่อบุปผา สิ่งที่โซวเอ็งแตกต่างจากผู้หญิงทุกคนที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางของเซียวฮื้อยี้ก็คือ เธอเอ่ยบอกความในใจของตัวเองโดยไม่เห็นเป็นเรื่องน่าอับอาย
            ขอเพียงข้าพเจ้าชมชอบเขา ไม่ว่าเขาชมชอบข้าพเจ้าหรือไม่ ล้วนไม่เป็นไรโซวเอ็งยังไปไกลกว่านั้นอีก เมื่อเธอบอกว่า อย่าว่าแต่ต่อให้ตอนนี้เขาไม่ชมชอบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มีวิธีทำให้เขาชมชอบ”
            รักแรกพบของโซวเอ็งอาจดูคล้ายความลุ่มหลงงมงายอย่างไร้เดียงสาที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กกำพร้าคนใดก็ตามที่เติบโตอย่างโดดเดี่ยวในหุบเขา แล้วพลันได้พบกับบุรุษที่แตกต่างและน่าดูกว่าบรรดาศิษย์บริวารของงุ่ยบ้อแง้ การเปิดเผยความรู้สึกและหาวิธีที่ทำให้เซียวฮื้อยี้ชมชอบก็อาจทำให้นึกถึงธิดาทิเบตตอนต้นเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่อีก เพราะเส้นที่ขีดแบ่งระหว่างโซวเอ็งกับ เอียเท้าไร้เดียงสาหรือ โกวเนี้ยมากรักก็คือ มีแต่คนอย่างเซียวฮื้อยี้เท่านั้นที่สามารถเกาะกุมใจเธอ ในขณะที่ความสง่างาม สุภาพอ่อนโยนของฮวยบ้อข่วยไม่มีความหมายใดๆ และความสามารถในการล่อลวงสตรีจนลุ่มหลงของกังเง็กนึ้งก็ยิ่งล้มเหลว เพราะเมื่อเธอพึงตาต้องใจเซียวฮื้อยี้อแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินต่อไปก็คือสิ่งที่โก้วเล้งบรรยายไว้ว่า ไม่ว่าผู้ใด ไม่ว่าเรื่องราวใด อย่าคิดหมายให้นางเปลี่ยนความตั้งใจ
            โซวเอ็งมีทั้งความชาญฉลาด มีทั้งความตั้งใจที่ไม่แปรเปลี่ยน และยังมีวิธีมากมายที่จะทำให้ความชมชอบของเธอบรรลุผล เธอติดตามเซียวฮื้อยี้แทบไม่ได้คลาดคลา อยู่เคียงข้างเขาในทุกสถานการณ์ กีดกั้นคนอื่นออกห่างจากผู้ชายของเธอด้วยท่าทีสนิทสนมกับเขาอย่างไม่ปิดบัง 
            ยิ่งไปกว่านั้น ครั้งหนึ่งโซวเอ็งถึงกับส่งทิซิมลั้งไปหางุ่ยบ้อแง้ตั้งแต่แรกรู้จัก เพื่อกันศัตรูความรักของเธอออกไป สตรีที่ดีงามอาจไม่ใช่เล่ห์กลเช่นนั้น และไม่แน่ว่าทุกคนจะยอมรับเหตุผลที่เธอบอกอธิบายว่า สตรีนางหนึ่งกระทำเพื่อคนที่นางรัก ไม่ว่าทำอะไรล้วนไม่เสื่อมเสียหน้าแต่เมื่อ ไม่ว่าทำอะไรของโซวเอ็งรวมไปถึงการโดดโพรงถ้ำหมายตายตามเซียวฮื้อยี้ไปจริงๆ และรวมถึงการเดิมพันชีวิตกับฮวยบ้อข่วยด้วยสุราผสมยาพิษก่อนที่การประลองถึงชีวิตระหว่างเขากับเซียวฮื้อยี้จะเริ่มขึ้น ทุกคนก็ได้แต่ยอมรับจิตใจอันแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยนของเธอ
            โซวเอ็งจึงต่างจากทิซิมลั้งอย่างสุดขั้ว เธอไม่อ่อนไหว ไม่เจ้าทุกข์ ไม่ซุกซ่อนความในใจจนสับสน และไม่ยอมให้ชีวิตถูกพัดพาไปตามชะตาเช่นทิซิมลั้ง เมื่อรู้ว่าการประลองฝีมือระหว่างเซียวฮื้อยี้กับฮวยบ้อข่วยไม่อาจหลีกเลี่ยง และทั้งทิซิมลั้ง ทั้งโซวเอ็งต่างก็รู้ว่า เซียวฮื้อยี้ไม่อาจต้านทานฮวยบ้อข่วยได้ ทิซิมลั้งไปหาฮวยบ้อข่วย ขอร้องให้เขาไม่ฆ่าเซียวฮื้อยี้ ทั้งที่รู้ว่าเมื่อฮวยบ้อข่วยไม่ฆ่าก็ย่อมถูกฆ่า ทั้งที่ทิซิมลั้งก็ไม่ได้อยากให้ฮวยบ้อข่วยตาย ทั้งที่ถึงขณะนั้นฮวยบ้อข่วยได้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเธอ โซวเอ็งก็ไปหาฮวยบ้อข่วย แต่เพื่อใช้ชีวิตตัวเองเดิมพันไม่ใช่ร้องขอ ถ้าเธอแพ้ เธอก็ตาย และหลังจากนั้นเซียวฮื้อยี้ก็คงตายตาม
            แต่ถ้าเธอชนะ เซียวฮื้อยี้ก็จะมีชีวิตอยู่
เซียวฮื้อยี้มักอวดอ้างว่าเขาเป็น คนชาญฉลาดอันดับหนึ่งของแผ่นดินโซวเอ็งก็ไม่ต่างกันนัก ครั้งหนึ่งเธอบอกกับฮวยบ้อข่วยว่า ทั่วทั้งแผ่นดินไม่มีผู้ใดสะกดข่มข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าอยู่สูงเลิศลอยตลอดกาล
            เมื่อพบเซียวฮื้อยี้ โซวเอ็งรำพึงว่าเซียวฮื้อยี้เป็น ดาวอสูรในชีวิตของเรา เหตุใดเราพอพบพานเขาก็สูญเสียความคิดอ่านไปแต่ในสายตาหลายคนที่รู้จักเซียวฮื้อยี้  เคยลิ้มรสความเจ้าเล่ห์แสนกลหรืออย่างน้อยก็รับรู้ความสามารถของเขาในการก่อกวนผู้คนจนอาจคลั่งใจตายได้ ครั้นเมื่อได้เห็นโซวเอ็งอยู่ข้าง ต่างพูดจาคล้ายกันว่าเธอเป็น ดาวข่มของลูกปลาน้อย
            ทั้งคู่ต่างเป็นดาวข่มซึ่งกันและกัน ยามเมื่อต่อปากต่อคำจึงมีรสชาติ มีสีสัน ตอนที่โซวเอ็งกระโดดลงไปในโพรงถ้ำ เซียวฮื้อยี้ช่วยรักษาชีวิตเธอไว้ แต่คำถามของเขาไม่หมายรักษาน้ำใจเธอเลย ข้าพเจ้ากับท่านไม่มีความสัมพันธ์อุบาทว์แม้แต่น้อย ท่านไฉนต้องตายเพื่อข้าพเจ้า? หรือท่านต้องการให้ข้าพเจ้าสำนึกขอบคุณท่าน? เป็นข้าทาสของท่านไปชั่วชีวิต?”
            โซวเอ็งกลับตอบอย่างปลอดโปร่งว่า ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการให้ท่านเป็นข้าทาสของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเพียงต้องการให้ท่านเป็นสามีข้าพเจ้า
            อีกครั้งหนึ่ง ก่อนวาระสุดท้ายของลี้ตั่วฉุ่ย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศรันทดหดหู่ เซียวฮื้อยี้ห้ามทุกคนร้องไห้ หากผู้ใดหลั่งน้ำตาอีก ข้าพเจ้าจะบีบบังคับนางเป็นภรรยาข้าพเจ้า ให้นางล้างเท้าโสโครกให้แก่ข้าพเจ้าทุกวันลูกสาวลี้ตั่วฉุ่ยพยายามปาดเช็ดน้ำตา แต่โซวเอ็งกลับร้องไห้ออกมา ก่อนจะถามว่า ท่านไฉนไม่บีบบังคับข้าพเจ้าแต่งงานกับท่าน?”
            ในแง่นี้โซวเอ็งจึงต่างจากเทพธิดาน้อยที่ดื้อรั้นอย่างไม่ลดราวาศอก เธอรู้เวลาที่จะทุ่มเถียงกับเขา รู้เวลาที่จะเก็บคำ รู้เวลาที่จะช่วยคิดอ่าน รู้เวลาที่จะปลอบโยน รู้เวลาที่จะใช้เล่ห์กล รู้เวลาที่จะใช้มารยาอุบาย รู้เวลาที่จะยืนเคียงข้าง และรู้เวลาที่จะอยู่ข้างหลังหนึ่งก้าว เมื่อโก้วเล้งบรรยายตอนที่ทั้งสองทั้งขู่ทั้งปลอบเพื่อเค้นเอาความจริงจากผู้อื่นว่า คนหนึ่งรับบทหน้าดำ (ตัวร้ายบนเวทีงิ้ว) คนหนึ่งสวมบทหน้าขาว (ตัวเอก)ไม่เพียงทำให้ผู้อ่านเห็นด้วยว่า หากพวกเขายังไม่อาจคาดคั้นความจริงจากผู้อื่น ยังมีผู้ใดคาดคั้นได้แต่ยังคล้อยตามไปด้วยว่า นับเป็นคู่ที่สวรรค์สร้างมาจริงๆ
            ผู้ชายหลายคนเลือกผู้หญิงจากหน้าตา-ความงาม บางคนเลือกจากความคู่ควรทางสถานะ แต่บางคนกลับต้องการผู้หญิงที่เท่าทัน เซียวฮื้อยี้เป็นคนประเภทหลัง และโซวเอ็งก็ทั้งเท่าทันทั้งรู้ใจ
            นับจากรอดชีวิตจากงุ่ยบ้อแง้ เซียวฮื้อยี้ทั้งไม่แสดงความขอบคุณ ทั้งยังว่าร้าย ระราน และพยายามสลัดหลุด เราไม่รู้แน่ว่าโซวเอ็งอ่านเซียวฮื้อยี้ปรุโปร่ง หรือเพียงปลอบใจตัวเอง เมื่อเธอบอกว่าพฤติกรรมและวาจาทั้งหมดของเซียวฮื้อยี้เป็นเพียงเพราะในใจเขากลัวว่าจะสยบยอมต่อเธอ หลงรักเธอ เพราะอย่างน้อยในเวลานั้น ในใจเซียวฮื้อยี้ยังคงมีทิซิมลั้ง
            แต่ภายใต้ร่างแหอันถี่ถ้วนของโซวเอ็งที่ดูเหมือนยิ่งแผ่คลุมและโอบรัด เซียวฮื้อยี้ก็ดูเหมือนยิ่งพยายามน้อยลงที่จะสลัดหลุด ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ซึมซับรับรสชาติที่ไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อนในชีวิต ... รสชาติอันอบอุ่น นุ่มนวล หวานชื่น ที่สามารถพลิกกลับร่างแหในจินตนาการของเขาให้กลายเป็นตาข่ายรองรับที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจ มั่นคง
            สุดท้าย เราก็ได้แต่คล้อยตามโก้วเล้งอีกครั้งว่า เซียวฮื้อยี้โชคดียิ่ง
#
หมายเหตุ
- เซียวฮื้อยี้เป็นหนึ่งในเรื่องเอกของโก้วเล้ง ฉบับภาษาไทยดั้งเดิมเป็นฝีมือแปลของ ว. ณ เมืองลุง แต่การอ้างอิงในที่นี้ ใช้ตามฉบับที่ น.นพรัตน์ ได้แปลซ้ำอีกครั้งจากต้นฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ ที่โก้วเล้งบอกว่าได้ตัดทอนส่วนที่เขาเห็นว่า ไม่จำเป็น ไม่เจริญวัย และไม่พอใจทิ้งไป สำนวนนี้ใช้ชื่อว่า ลูกปลาน้อย เซียวฮื้อยี้พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2535 โดยสยามสปอร์ตพริ้นติ้ง ในรูปแบบหนังสือปกอ่อนขนาดบาง  36 เล่มจบ
#
ปรับปรุงเมื่อ 6 เมษายน 2555
จากต้นฉบับที่เขียนเมื่อปี 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2555)