วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศาสตร์แห่งความสุข

ตั้งแต่เมื่อไรกันที่ความสุขกลายเป็นเรื่องทางเทคนิค?” เป็นคำถามที่เจเน็ต มา ส่งไปยังนิตยสาร Time อีกคำถามหนึ่งของเธอคือเราจะหวนกลับไปหาวันเวลาที่ผู้คนใช้ชีวิตไปตามใจปรารถนา โดยไม่ต้องสงสัยว่าสารเคมีตัวไหนในสมองที่ทำให้เรามีความสุขไม่ได้หรือ?” เธอบอกด้วยว่า เธอรู้สึกเศร้าใจที่วิทยาศาสตร์เข้าไปยุ่มย่ามในทุกแง่มุมของความเป็นมนุษย์
ภาพประกอบ: มนูญ จงวัฒนานุกูล

            ถ้าเรายังคงเชื่อ ยังคงระลึกได้ว่า ความสุขอยู่ที่ใจเราอาจจะเห็นพ้องกับเจเน็ต แต่ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น เต็มไปด้วยสรรพวัตถุที่กำหนดจิต และมากด้วยสิ่งเร้าที่กระตุ้นความกระหายอยาก ได้ดึงให้เราห่างเหินจากความนึกคิดและจิตใจของตัวเองมากขึ้นจนยากจะหยั่งถึง ในโลกที่ กระบวนการและ วิธีทำเข้ามาแทนที่สำนึกและเป้าหมาย ในโลกที่แม้แต่ความสุขและความพึงพอใจของเราได้กลายเป็นสิ่งที่ คนอื่นมาบอกกับเราว่า จะเกิดขึ้น-มีได้ ก็โดยการได้มาซึ่งสิ่งนั้น การบรรลุถึงสิ่งนี้
            การอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งอาจจะเคยรับรู้ได้ด้วยหัวใจ และเข้าถึงได้ด้วยความรู้สึก โดย ศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม มีกระบวนการศึกษาวิจัยรองรับ มีข้อมูลสนับสนุน ก็อาจจะเป็นสิ่งซึ่งควรแก่เหตุและกาลสมัย
Time ฉบับอันเป็นที่มาของคำถามข้างต้น รายงานถึงความก้าวหน้าของศาสตร์หลายแขนงในการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าความสุขวิธีสร้างสุข และหามาตรวัดระดับความสุข
            ในทางพันธุกรรม เมื่อหลายปีก่อนเคยมีการวิจัยที่สรุปว่า ยีนเป็นปัจจัยหลักที่มีบทบาทกำหนดระดับความสุขความพึงพอใจที่แตกต่างกันในแต่ละคนมากถึง 50% ในขณะที่ปัจจัยอื่น เช่น รายได้ ชีวิตครอบครัว ศาสนา การศึกษา มีส่วนกำหนดเพียง 8% ที่เหลือเป็นปัจจัยอื่นๆ ที่เรียกรวมว่าสายโยงและศรชี้ของชีวิต
            ระดับความสุขที่กำหนดโดยยีนจึงเหมือนกับการตั้งค่าเอาไว้แล้วล่วงหน้าตั้งแต่เกิด และยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากนักเช่นเดียวกับยีนที่กำหนดค่าความสูงหรือน้ำหนัก การศึกษาในช่วงต่อมาไม่ได้ ปฏิเสธบทบาทของยีน แต่โต้แย้งถึงค่าที่กำหนดโดยยีน จนเป็นที่ยอมรับว่ามีปัจจัยอื่นที่ทำให้คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงระดับความสุขในตัวได้ในช่วงกว้างกว่าที่เคยคิดกัน
            นักจิตวิทยาก็พยายามขยายนิยามของสุขภาพจิตจากการบำบัดรักษาอาการป่วยไข้ทางจิต ไปสู่สุขภาวะทางใจ ความท้าทายใหม่ก็คือ หลังจากที่เคยปรับภาวะจิตใจของคนที่มีค่า -5 ให้กลับมายังจุดศูนย์ได้สำเร็จแล้ว จะสามารถปรับจาก 0 ขึ้นไปสู่ภาวะ +5 ได้หรือไม่ อย่างไร
            งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า ความมั่งคั่งและความเพลิดเพลินพอใจที่ซื้อได้ด้วยเงินไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า เมื่อความต้องการจำเป็นพื้นฐานของเราได้รับการสนองตอบ ส่วนที่เกิน เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น ระดับการศึกษา ระดับไอคิว ล้วนมีผลน้อยมากต่อระดับความพึงพอใจในชีวิต
            เคยมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้บริหารที่รวยที่สุดในอเมริกา พบว่าคนเหล่านี้มีความสุขในชีวิต มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนอเมริกันทั่วไปเพียงเล็กน้อย
            การศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์สัมพันธ์สนับสนุนเรื่องนี้ งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่ารายได้ประชาชาติและรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตจำนวนมากขึ้น มีผลกับความรู้สึกดีต่อชีวิตไม่มากนัก
            อาจจะเป็นจริงที่ความยากจนเป็นอุปสรรคต่อชีวิตที่มีความสุข ประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกาที่ประชากรมีรายได้ต่ำมากๆ อาจไม่มีความสุขมากเท่ากับประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงกว่า มีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมครบสมบูรณ์กว่า แต่ในสังคมพัฒนาด้วยกัน ประเทศ กลุ่มสแกนดิเนเวียและยุโรปบางประเทศที่มีการกระจายรายได้ดีกว่า ดัชนีความสุขของคนในสังคมจะสูงกว่าประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่สูงอย่างอเมริกา เช่นเดียวกับที่คนในชนบท คนในเมืองเล็กๆ มักจะมีความพอใจกับชีวิตมากกว่าคนเมืองใหญ่ในประเทศเดียวกัน และคนจรจัดในกัลกัตตาก็เป็นทุกข์น้อยกว่าคนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนีย
            นักสังคมวิทยาอธิบายเรื่องนี้ด้วยคำว่า ค่าอ้างอิงความกังวลซึ่งในสังคมที่มีสภาพความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันจะมีค่าอ้างอิงความกังวลต่ำ และมีความพอใจในชีวิตสูงกว่าสังคมที่มีความแตกต่างทางรายได้และความเป็นอยู่มากๆ ความพยายามที่จะไต่บันไดชนชั้นและสถานภาพทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่กันคนเราออกห่างจากความสุข เพราะทุกครั้งที่เราแหงนมองขึ้นไปข้างบน ก็จะพบว่ามีคนที่รวยกว่าเราอีกมาก
            คนที่กำลังเตรียมจะซื้อพลาสมาทีวีจอห้าสิบกว่านิ้วมาเข้าชุดโฮมเธียเตอร์ จึงอาจรู้สึกประหลาดใจกับผลการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าที่ยืนยันตรงกันว่า คนในละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความสุขในโลก ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ไม่หยุดหย่อน ประชากรมีรายได้ การศึกษา และมาตรฐานการครองชีพต่ำ แต่คนละตินอเมริกันก็ยังมีความสุขมากกว่าคนในหลายประเทศที่มีพร้อมทุกอย่าง พัฒนาแล้วในทุกด้าน
            ค่าอ้างอิงความกังวลใช้อธิบายกรณีนี้ไม่ได้ สิ่งที่อธิบายได้ดีกว่าคือวัฒนธรรม-ความคิด-ความเชื่อที่ถ่ายทอดปลูกฝังกันมา จนหล่อหลอมเป็นทัศนคติเชิงบวก เป็นความศรัทธาที่มั่นคงต่อชีวิตและสิ่งที่ดีงาม หรืออาจจะพูดง่ายๆ ว่า คนละตินอเมริกามีความสุขเพราะพวกเขามองโลกในแง่ดีและต้องการให้ชีวิตมีความสุข
คนที่เคยดื่มด่ำกับเรื่องราวของครอบครัวแมคคอลี ในหนังสือความสุขแห่งชีวิต” (Human Comedy) ของวิลเลียม ซาโรยัน คงคุ้นเคยและได้เรียนรู้หลายอย่างจากทัศนคติและท่าทีต่อชีวิตแบบเดียวกันนั้น
            โฮเมอร์ แมคคอลี เด็กชายวัยสิบสี่ กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวหลังจากพ่อเสียชีวิต พี่ชายถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่สอง แม่มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากงานในโรงงานหีบห่อเฉพาะช่วงฤดูร้อน พี่สาวยังเรียนในวิทยาลัยและถือกันว่าลูกผู้หญิงวัยนี้ไม่ควรออกไปหางานทำนอกบ้าน น้องชายอีกคนก็ยังเล็กมาก
            โฮเมอร์ยังไปเรียนตอนกลางวันและทำงานส่งโทรเลขตอนกลางคืน วิลเลียม ซาโรยันบอกเราว่า ชีวิตนั้นยากลำบาก แต่ชีวิตก็ยังดำเนินไปและยังมีส่วนที่น่ารื่นรมย์เสมอ ตราบเท่าที่เรายังรักษาความรู้สึกดีๆ เอาไว้ได้ และสร้างโลกอย่างที่ต้องการขึ้นมาใหม่ในทุกๆ วัน งานส่งโทรเลขนำโฮเมอร์ไปพบกับเรื่องราวและอารมณ์หลากหลายของผู้คน รวมทั้งเรื่องที่หนักหนาที่สุดสำหรับเขา คือการส่งข่าวความตายไปยังคนที่รอลูกชายกลับจากสงคราม
            โฮเมอร์เติบโตอย่างรวดเร็วในความเปลี่ยนแปลงของชีวิต คติที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัวนำเขาผ่านข้ามทุกอย่างไปได้ เป็นคติแบบที่มิสซิสแมคคอลีเคยบอกกับลูกชายคนเล็กว่า สิ่งที่ดีไม่เคยสูญ เพราะถ้ามันสูญ ก็จะไม่มีคนเหลืออยู่ในโลกอีกแล้ว--ไม่มีชีวิตเหลืออยู่เลย แต่ในโลกนี้ก็ยังเต็มไปด้วย ผู้คนและชีวิตที่แสนสุขและเป็นคติแบบที่เธอบอกกับลูกชายคนรองว่า ย่อมจะมีความเจ็บปวดอยู่ในสิ่งต่างๆ เสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะต้องสิ้นหวังไปเสียหมด คนดีๆ ย่อมจะทำให้ความเจ็บปวดหายไปได้เสมอ
            ในที่สุด เมื่อโฮเมอร์ต้องส่งข่าวความตายให้ครอบครัวของตัวเอง เขาก็รู้วิธีที่จะทำให้ความเจ็บปวดหายไป และยังคงยิ้มได้ ยิ้มของคนในครอบครัวแมคคอลีนั้น ซาโรยันบรรยายไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าหมายถึงการตอบรับต่อทุกสิ่ง
คติและความคิดเชิงบวกเป็นที่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของความสุขแห่งชีวิต นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การมีชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อและศรัทธาต่อชีวิตและสิ่งที่ดีงามย่อมนำมาซึ่งความสุข
            คติและท่าทีเช่นนี้อาจปลูกฝังโดยศรัทธาทางศาสนา บ่มเพาะโดยครอบครัว-สังคมที่คนเราเติบโตมา รักษาไว้โดยความพอใจในสิ่งที่มี ชีวิตที่เป็น และเพิ่มพูนขึ้นโดยการทำชีวิตให้มีความหมาย รับใช้จุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าอัตตาตัวเอง
            เมื่อแปรออกมาเป็นวิธีสร้างสุขอย่างเป็นรูปธรรม นักจิตวิทยาที่เคยให้คำแนะนำถึงการรับมือกับความเครียดและความวิตกกังวล จึงเริ่มเสนอให้ฝึกฝนการให้ รู้คุณของการรับ รู้จักการอภัย ถักทอสายใยสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างให้แน่นแฟ้น
            ด้วยข้อสรุปและข้อเสนอเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า ความพยายามของศาสตร์ยุคใหม่ที่จะนำเราไปสู่ความสุข สุดท้ายก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนหลักธรรมคำสอนทางศาสนาต่างๆ ที่ถ่ายทอดมานับพันๆ ปี และเรายังได้ยินกันอยู่เสมอ
            ซึ่งก็จริง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราได้ทำหรือทำได้แค่ไหนกัน
#
Rhymes to learn
  • ข้อมูลการศึกษาวิจัยต่างๆ ในบทความนี้ เก็บความมาจากบทความหลายชิ้นใน Time ฉบับพิเศษ “Mind & Body” (28 กุมภาพันธ์ 2548) ซึ่งยังมีข้อมูลและแง่มุมที่น่าสนใจอีกมาก น่าจะหาซื้อย้อนหลังได้ไม่ยากจากร้านขายนิตยสารเก่า
  • มัทนี เกษกมล เป็นผู้ถ่ายทอด “Human Comedy” ของ วิลเลียม ซาโรยัน ออกมาเป็นความสุขแห่งชีวิตด้วยภาษาที่ง่ายและงาม พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน เมื่อปี 2541

#
9 พฤษภาคม 2548

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548)

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Empire Burlesque

วิธีง่ายๆ ในการช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน ที่แทรกอยู่ในคอนเสิร์ต Live Earth เป็นความพยายามที่ดีและแสดงรูปธรรมของการมีส่วนร่วมว่าไม่ใช่เรื่องยากและเกินกำลัง
            แต่วิธีง่ายๆ สำหรับคนอเมริกัน ก็อาจกลายเป็นวิธีขำๆ สำหรับคนในซีกโลกอื่น อย่างเช่น การตากผ้าหลังซักแทนการใช้เครื่องอบ
            วิธีของบรรพชนที่ปล่อยให้ผ้าแห้งเองภายใต้สายลมและแสงแดดยังคงเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ในโลกทำกัน นอกจากธุรกิจซัก-อบ-รีด และบริการประเภทโรงแรม-โรงพยาบาล เครื่องอบผ้าอาจมีความจำเป็นสำหรับผู้คนในพื้นที่เขตฝน และที่พักอาศัยซึ่งไม่มีพื้นที่พอให้ตากผ้า แต่เอาเข้าจริง เครื่องอบผ้าก็กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของคนที่มีเงินซื้อเครื่องและจ่ายค่าไฟในอัตราก้าวหน้ามากกว่าสิ่งตอบสนองความจำเป็นของคนห้องแถวและชาวแฟลต
            เช่นเดียวกับกรณีเครื่องอบผ้า มีหลายคนถามว่า คอนเสิร์ต Live Earth เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550) ตอบสนองความจำเป็นและคุ้มค่าแค่ไหนในการรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน
Credit: Christopher J. Morris from http://www.photosensitive.com
เดอะ ฮู เปรียบเปรยคอนเสิร์ตใหญ่คราวนี้กับ “(การนั่ง) เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนรอเจอร์ ดัลทรีย์-นักร้องนำ บอกด้วยว่ามันเป็นคอนเสิร์ตที่ไร้จุดหมายสิ่งสุดท้ายที่โลกนี้ต้องการก็คือร็อคคอนเสิร์ต คำถามและคำตอบเกี่ยวกับปัญหานี้มันใหญ่โตเกินไปจนผมไม่รู้ว่าร็อคคอนเสิร์ตจะไปช่วยอะไรได้
            บ็อบ เกลดอฟ ผู้จัด Live Aid เมื่อ 22 ปีก่อน ก็เห็นว่า Live Earth เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ หากวางเป้าหมายไว้เพียงแค่สร้างความตระหนักและตื่นตัว เพราะทุกคนรับรู้ปัญหาโลกร้อนมาเป็นปีๆ แล้วและถ้าเป็นเขา เขาจะจัดคอนเสิร์ตคอนเสิร์ตแบบนี้ก็ต่อเมื่อผมสามารถขึ้นไปบนเวทีแล้วประกาศได้ว่าผู้สมัครประธานาธิบดี สภาคองเกรส และบรรษัทใหญ่ของอเมริกา มีมาตรการที่ชัดเจนอย่างไรในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม
            ทั้งรอเจอร์และบ็อบเป็นคนอังกฤษ ซึ่งอาจเป็นประเด็นอยู่บ้าง เพราะประเด็นเกี่ยวข้องและสำคัญกว่าคือ สหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็นประเทศปล่อยก๊าซที่สร้างภาวะเรือนกระจกสูงสุด ไม่ยอมให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันของนานาชาติในการแก้ปัญหานี้ (แม้ปัจจุบันตัวเลขของจีนได้แซงสหรัฐฯไปแล้ว แต่สหรัฐฯยังครองค่าสูงสุดต่อจำนวนประชากรอยู่ดี)
            ในอีกด้านหนึ่ง ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ รายงานว่า ก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากคอนเสิร์ตนี้ทั้งหมด รวมถึงการเดินทางและการใช้พลังงานของนักดนตรีและผู้ชม ไม่ต่ำกว่า 74,500 ตัน หรือ 3,000 เท่าของค่าเฉลี่ยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อปีในพื้นที่ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร สอดคล้องกับข้อมูลจากสื่ออื่นๆ เช่น เดลีเมล์บอกว่า นักร้องนักดนตรีที่ร่วมแสดงคอนเสิร์ตนี้ใช้เส้นทางบินรวมกันไม่น้อยกว่า 358,278 กม. คิดเป็นระยะทางรอบโลก 9 รอบ นี้ยังไม่รวมการเดินทางของทีมงานฝ่ายต่างๆ ซึ่งทางบีบีซีประเมินว่าต้องปลูกต้นไม้ 100,000 ต้นเพื่อชดเชยกับมลภาวะที่เกิดขึ้นจากคอนเสิร์ตวันเดียวนี้
โลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างทั่วถึง แก้ยาก และรุนแรงขึ้นทุกขณะ เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนกระทั่งทุกคนต้องร่วมมือกัน การเป็นส่วนหนึ่งในการลด/แก้ปัญหา หรือกระทั่งเพียงพยายาม ย่อมดีกว่าเพิกเฉยและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาต่อไป
            แต่คำวิพากษ์ที่อาจเหมือนกับการตั้งแง่ต่อคอนเสิร์ตเพื่อการรณรงค์ หรือแม้แต่เคลือบแคลงต่อบทบาทนำของอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (รวมไปถึงประเด็นการใช้พลังงานเกินงามในคฤหาสน์ของเขา) ก็สะท้อนถึงกระบวนคิดอีกแบบที่จำเป็นในโลกที่ซับซ้อน
            สิ่งที่รอเจอร์ ดัลทรีย์พูด กับตัวเลขแสดงผลกระทบที่คอนเสิร์ต Live Earth ได้ซ้ำเติมต่อโลก บอกว่าเราจำเป็นต้องถี่ถ้วนกับประสิทธิผลและผลข้างเคียงทุกๆ ด้าน สิ่งที่บ็อบ เกลดอฟวิจารณ์ กับท่าทีของสหรัฐฯต่อปัญหานี้ ชี้ถึงการจัดลำดับความสำคัญว่า อัล กอร์น่าจะไปปลุกสำนึกของประธานาธิบดี-นักการเมือง-นักธุรกิจอเมริกันก่อนจะมาส่งเสียง เวค-อัพ คอลล์กับคนทั้งโลกซึ่งอาจจะลุกตื่นขึ้นมาก่อนแล้ว
            เหมือนกับที่คนไทยบอกว่า ไม่ต้องมาบอก (กู) เลยเรื่องตากผ้า” 
เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เราได้ยินเสียงปลุกจากอัล กอร์  เราก็ได้เห็นคนในปารีสนับหมื่นหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะ
            นายกเทศมนตรีปารีสเริ่มคิดเมื่อไหร่ เราอาจไม่รู้ พูดเอาไว้หรือไม่ เราอาจไม่ได้ยิน แต่การเปิดตัว “Paris Velib” หรือ “Freedom Bike” เพื่อจูงใจให้คนในมหานครที่แออัดที่สุดแห่งหนึ่งหันมาเดินทางด้วยจักรยาน ได้แสดงถึงกระบวนทัศน์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุดในการแก้ปัญหาการ จราจร-พลังงาน-มลพิษ-และโลกร้อน เท่าที่เคยเห็นกันมา
            จักรยาน 3 เกียร์ที่ออกแบบเฉพาะเพื่อรับงานหนักและกันขโมยจำนวน 10,000 คัน จุดเช่า/คืนรถ 750 แห่งทั่วกรุง กับพื้นผิวถนนระยะทางนับร้อยกิโลเมตรที่กันเป็นเลนเฉพาะ เป็นสามโครงสร้างหลักที่รองรับอิสรภาพในเดินทาง โดยไม่ต้องกังวลกับความปลอดภัยบนถนน การหาที่จอด การดูแลรักษาและสูญหาย หลังจากสมัครสมาชิกรายปีและวางเงินประกัน ทุกคนสามารถเช่าและส่งคืนจักรยานได้ทุกจุดบริการ
            สามสัปดาห์ให้หลัง ชาวปารีเซียงเช่าจักรยานใช้ไปแล้ว 1,200,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 6 ครั้งต่อคัน เป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนรถ จำนวนจุดบริการ และพื้นผิวจราจรรองรับ พร้อมๆ กับที่จูงใจให้มหานครหลายแห่งเคลื่อนตาม
            บ็อบ เกลดอฟพูดถูก นี่คือเวลาของการลงมือทำ
อาจจะเร็วเกินไปที่จะตัดสินคนและโครงการ คอนเสิร์ต Live Earth เป็นเพียงจุดเริ่มของแผนงานรณรงค์ 3 ปี แต่ไม่ได้ช้าเกินไปสำหรับการประเมินผลความคุ้มค่าของทรัพยากรทั้งหมดที่ใช้ไป กับการบรรลุเป้าประสงค์ และความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาวะปัญหาจริง
            อัล กอร์ กับทีมทำงานของเขาคงไม่ได้มาศึกษางานจาก สสส. บางทีอาจเป็นเพราะว่า เอ็นจีโอสายวิชาการ (แต่ชอบที่จะได้ชื่อว่าเป็นนักการตลาดเพื่อสังคม”) ที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน... ทำงานได้แค่(แบบ)นี้เอง พูดกันร้ายๆ ก็คือ แบบที่ใช้เงินคนอื่นมารณรงค์สร้างผลงานให้ตัวเองซึ่งถ้าวัดผลแบบการตลาดภาคธุรกิจคงจะนั่งอยู่ได้ไม่เกินหกเดือน
            ร้ายกว่านั้นอีกก็คือ อัล กอร์ ผู้ผิดหวังจากการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เป็นเสมือนหนึ่งประธานาธิบดีแห่งโลกที่มีคน 2,000 ล้านเฝ้าดูเขาอยู่--อย่างน้อยก็สอง-สามนาที
            คอนเสิร์ต Live Earth กับ Freedom Bike เป็นความเหลื่อมทั้งทางวิธีคิด วิธีทำ ความเข้าใจสถานะและบริบทของปัญหา ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหลื่อมห่างกันสุดกู่ ไม่ต่างอะไรจากที่เรารณรงค์กันซ้ำซากเรื่องเมาไม่ขับ ในขณะที่สภาพปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย
ถ้าคิดให้มากกว่าเรื่องขำๆ กรณีเครื่องอบผ้าจากสปอตรณรงค์ในคอนเสิร์ต Live Earth สะท้อนทั้งวิธีคิดในการจัดคอนเสิร์ตนั้น และแสดงถึงความเป็นอเมริกันที่สำคัญตัวเอง ผิดตลอดมานับตั้งแต่ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงแต่ยิ่งใหญ่พอที่จะบอกว่าตัวเอง ถูกเสมอ
            เครื่องอบผ้าเช่นเดียวกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอีกมากมายในชีวิตประจำวัน ไม่ได้เป็นเพียงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ยังกลายเป็นมาตรฐานการดำรงชีวิตของสังคมอารยะ ที่สหรัฐฯเป็นผู้นำกำหนด ในยุคหนึ่งเครื่องอบผ้าได้แฝงคติความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ซึ่งทำให้ราวผ้าที่ตากแขวนกันระเกะระกะทุกแฟลต-อพาร์ตเมนต์-คอนโดมิเนียม สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นธงแสดงความด้อยพัฒนาที่น่ารังเกียจ เมื่อมาถึงยุคนี้การตากผ้าได้กลายคุณค่าเป็นการกอบกู้โลก
            กอบกู้กันทั้งๆ ที่สหรัฐยังคงนำหน้าทุกประเทศในการกระตุ้นความอยากได้ใคร่มีไปสู่การบริโภค ที่ไม่รู้จบ ไปสู่การเผาผลาญทรัพยากรอย่างไม่บันยะบังยัง ไปสู่วงจรขยะใหม่ที่เกินขีดความสามารถในการย่อยสลาย-ทำลาย-นำไปใช้ใหม่ ไปสร้างอาณาจักรอันมั่งคั่งของกลุ่มธุรกิจจำนวนไม่กี่หยิบมือ และปฏิเสธการทำสัตยาบันผูกมัดตัวเองในการแก้ปัญหา แต่ออกมาเรียกร้องรณรงค์จากคนทั้งโลก
            ซึ่งเป็นวีรบุรุษกันไปแล้วมากกว่าครึ่งค่อน ถ้าจะวัดกันด้วยดัชนีการตากผ้า
#
17 สิงหาคม 2550
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2550)