วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Golden Mermaid


บางทีสิ่งที่เราคุ้นเคยมานาน ก็กลายเป็นสิ่งที่เรามีความรู้น้อยมาก
            ผมคุ้นเคยกับสงขลา คุ้นเคยกับหาดสมิหลา คุ้นเคยกับรูปปั้นนางเงือก มาตั้งแต่เด็ก อาจจะก่อนได้รู้จักนางเงือกในเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ด้วยซ้ำ ประมาณว่าไปสงขลาครั้งแรกก็ได้เห็นนางเงือกแล้ว ได้ปีนขึ้นไปนั่งตักถ่ายรูปด้วยแล้ว

เงือกทองเปรียบเสมือนตัวแทนคนสงขลาคอยต้อนรับผู้มาเยือนหาดสมิหลา
อย่างโอบอ้อมและเป็นมิตรตลอดมา

            แต่ถ้าใครจะมาถามผมว่าเงือกสาวนางนี้ไปสิงสถิตย์อยู่บนหาดทรายสวยแห่งนี้ได้อย่างไร ผมก็คงได้แค่งึมงำตอบส่งๆ ไปว่า “ทางจังหวัดเขาคงสร้างขึ้นมามั้ง”
แผ่นจารึกประวัติการสร้างนางเงือก
            จนเมื่อไปสงขลาครั้งล่าสุด และมีเวลาเอ้อระเหยอยู่ริมหาดเนิ่นนาน ผมจึงได้หยุดอ่านแผ่นประวัตินางเงือก (ซึ่งทำขึ้นมาภายหลัง) อย่างละเอียดอีกครั้ง (และถือโอกาสถ่ายรูปไว้เป็นบันทึกช่วยจำ) แผ่นหินนั้นจารึกข้อความว่า “รูปปั้นนางเงือกนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้อาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่างเป็นผู้ปั้นหล่อจากบรอนซ์รมดำ โดยใช้งบประมาณของเทศบาล 60,000 บาท ตั้งชื่อว่า "เงือกทอง" (Golden Mermaid) เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลามาจนทุกวันนี้
            แผ่นประวัติยังได้อธิบายเรื่องนางเงือกต่อไปว่า “นางเงือกเป็นนางในวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ เอกกวีสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352 - 2367) ตามคำบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นั้น นิทานปรัมปราไทยเรื่องหนึ่งมีว่า ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ คืนหนึ่งมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจหนีลงน้ำไป ทิ้งหวีทองคำไว้ ชาวประมงผู้นั้นเฝ้าแต่รอคอย แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย”
ลองนึกภาพว่า ถ้าผมได้อ่านแผ่นจารึกก่อนหน้านี้เมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีก่อน ผมอาจจะอยากรู้ว่าปลัดจังหวัด/นายกเทศมนตรีคนนี้ คิดอย่างไร มีความประทับใจใดกับนางเงือก เป็นเพียงนางเงือกในนิทานปรัมปรา หรือว่ายังโยงใยไปถึงนางเงือกใน “พระอภัยมณี” ดังที่สุนทรภู่ได้รจนาไว้
            “พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย                     
         ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม 
         ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม           
         ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง
         ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด 
         ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง 
         พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง                 
         แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป” 
         แต่กับวัยวันที่เป็นจริง กับภาพเบื้องหน้าที่ผู้คนทุกเพศวัยทยอยกันขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือกแทบไม่ได้ว่างเว้น ทำให้ผมนึกอยากรู้คำตอบว่าตลอด 45 ปีที่ผ่านมา มีคนมาถ่ายรูปกับเงือกทองไปแล้วกี่ล้านหรือกี่สิบล้านคน
            แน่ละว่าเราคงเอา “เงือกทอง” ไปเปรียบกับ Little Mermaid ของเดนมาร์ก ที่กำลังจะมีอายุครบหนึ่งศตวรรษไม่ได้ ทั้งในแง่ของชื่อเสียง สถานะของสิ่งที่มาทีหลัง หรือแม้กระทั่งว่าการแปรเรื่องราวของเงือกสาวในตำนานออกมาเป็นงานประติมากรรมก็ยังอาจได้รับแรงบรรดาลใจมาจากรูปปั้นเงือกน้อยแห่งอ่าวโคเปนเฮเกน แต่ในขณะที่เงือกน้อยดูหม่นหมองและโดดเดี่ยว เงือกทองของเราดูโอบอ้อมและเป็นมิตร
            ระหว่างที่นั่งดูผู้คนมีความสุขกับการเวียนกันขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือก ผมก็นึกต่อไปว่า อาจารย์จิตร บัวบุศย์ คงปลาบปลื้มที่ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ใกล้ชิดสาธารณชนมากที่สุด เช่นเดียวกับที่คุณชาญ กาญจนาคพันธุ์ คงจะภูมิใจที่มรดกจากความคิดฝันของเขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เป็นหมุดหมายสำคัญทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย มาตลอดระยะเวลายาวนาน และหวังว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นสืบไป
            ที่ต้องใช้คำว่า “หวัง” ก็เพราะเมื่อปีที่แล้ว เคยมีข่าวว่ามีชาวบ้านนำผ้าสไบไปห่มรูปปั้นนางเงือก เอาพวงมาลัยไปคล้อง แถมยังมีการทาปากสีแดงและเจิมหน้าผากด้วยทองคำเปลวอีกต่างหาก เข้าใจว่าเป็นการแก้บนที่รอดพ้นภัยพายุและน้ำท่วม ยังดีที่ทางเทศบาลนครสงขลาไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ความเชื่อของคนบางกลุ่มแปรสถานะเงือกทองให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป
            ไม่อย่างนั้นภาพความน่าประทับใจที่เราได้เห็นจากอากัปกิริยาของผู้คนที่ไปถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นนางเงือก ก็อาจจะกลายเป็นภาพความคลั่งไคล้ของผู้คนที่ไปขูดเลขขอหวยและบนบานศาลกล่าว ซึ่งน่าจะมีมากเกินไปแล้วในประเทศนี้
ผมเคยคิดค้างไว้นานเกี่ยวกับเรื่องของนางเงือก ว่าผู้คิดมีแรงบันดาลใจอะไร และมุ่งหวังอะไร แม้จะไม่รู้อะไรมากขึ้นจากการสืบค้นได้เพียงผิวเผินผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ทุกครั้งที่ผมไปถึงแหลมสมิหลา ผมก็ยิ่งแน่ใจในพลังความคิดที่ยิ่งใหญ่ของนักปกครองคนหนึ่ง
            หากเส้นทางความสำเร็จของนักปกครองหมายถึงความก้าวหน้าจากตำแหน่งปลัดอำเภอ ไปเป็นนายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งถึงอธิบดี โดยมีตำแหน่งปลัดกระทรวงเป็นปลายทางของความใฝ่ฝัน บุตรชายของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้นี้ก็เดินไปไกลเกือบถึงสุดทางความสำเร็จ ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ที่สุดแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาและจะอยู่คู่กับเขาไปตลอดกาล ก็คือผลงานที่เขาได้ทำไว้ในขณะดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสงขลานี้เอง
            ผมนึกภาพข้าราชการหนุ่มวัย 40 เดินทางมารับตำแหน่งปลัดจังหวัดสงขลา และคงจะมีวันใดสักวันหนึ่งในยามที่เขามองดูหาดทรายขาวเนียน ทะเลสาบสีคราม ใคร่ครวญเรื่องเล่าเก่าแก่ของเกาะหนูเกาะแมว แล้วความคิดคำนึงก็ประหวัดถึงเงือกสาวในนิทานปรัมปราที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง...
            จากความคิดที่ล่องลอยดั่งปุยเมฆ เกิดกลายมารูปปั้นนางเงือกนั่งแปรงผมยาวสลวยอยู่บนโขดหิน ได้อย่างเหมาะเจาะพอดีกับทุกสิ่งทุกอย่างในบริบทนั้น บนหาดสวย ริมทะเลงาม มีเกาะที่โลดไล่กันในจินตนาการเป็นฉากหลัง ด้วยฝีมือการออกแบบ-ปั้นของศิลปินชั้นครูผู้เคยฝากฝืมือไว้กับพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากการที่ปลัดหนุ่มได้สร้างโอกาสขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง
            ในปีพ.ศ. 2509 ปลัดจังหวัดคนหนึ่งคงสร้างอะไรแบบนั้นขึ้นมาไม่ได้ในโครงสร้างการบังคับบัญชาของระบบราชการ ภายใต้กรอบการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลกลาง ในขณะที่ขนบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ปกครองต้องออกไปขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาคธุรกิจเอกชนมาใช้ในโครงงานนอกงบประมาณก็ยังไม่เกิดมี
            แต่ในยุคสมัยเดียวกันนั้น โครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาคเหลื่อมทับอยู่กับการปกครองท้องถิ่น การที่ปลัดจังหวัดหนุ่มได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกสถานะ ทำให้เขามีโอกาสได้ขายความคิดฝัน และเงินงบประมาณจำนวน 60,000 บาทที่อนุมัติโดยสภาเทศบาลเมืองสงขลานั้นเองที่ทำให้นางเงือกในความฝันของชาญ กาญจนาคพันธุ์ เป็นความจริงขึ้นมา
            เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของเราแต่ละคน
#
3 สิงหาคม 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2554)

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Call It Democracy

บ็อบ ดีแลน น่าจะเป็นศิลปินรุ่นแรกๆ ที่ตั้งคำถามกับความเป็นประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่คำว่า Globalization ยังไม่ทันจะแพร่หลาย
            ตอนนั้นเป็นปี 1983 ปีที่นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนกำลังผลิดอกออกผลในนาม เรแกนโนมิคส์ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นความงอกงามที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานชาติเดียวกันพากันตกงานจากการย้ายฐานการผลิตขนานใหญ่ออกนอกประเทศไปยังประเทศโลกที่สามซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่ากันหลายเท่า
            เพลง “Union Sundown”* จากอัลบัม Infidels ในปีนั้น เมื่อดูจากชื่อเพลงและฟังเผินๆ ดูเหมือนว่าบ็อบกำลังกล่าวโทษผู้นำสหภาพแรงงานที่เอาแต่ตั้งเงื่อนไขค่าจ้าง ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ จนกระทั่งเมื่อสบช่องเหมาะ นักลงทุนก็หนีไปลงทุนในประเทศอื่นที่พร้อมจะเปิดประเทศให้เข้าไปตักตวงเอาทุกอย่างในราคาถูกๆ ตั้งแต่ค่าแรง ทรัพยากร และโครงสร้างภาษี ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุน เริ่มตั้งแต่ประเทศใกล้บ้านทางตอนใต้ในแถบละตินอเมริกาก่อน ต่อมาไม่นานพวกที่ปีกแข็งบินไกลก็สยายปีกไกลมาถึงเอเชียตะวันออก จนเป็นที่มาของความหลงลำพองในความเป็นเสือแห่งเอเชียของหลายประเทศแถบนี้
            บ็อบใช้คำว่า สหภาพกลายเป็นธุรกิจใหญ่โต ซึ่งจะสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์แค่นี้ก็ชัดแล้วว่าในมุมของเขา ผู้นำสหภาพเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นำไปสู่ภาวะ สหภาพอัสดงแต่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ ไม่มีอะไรที่ทำกันในอเมริกาอีกแล้วเพราะรองเท้าที่เขาใส่อยู่มาจากสิงคโปร์ ไฟฉายก็ส่งมาจากไต้หวัน ผ้าปูโต๊ะจากมาเลเซีย หัวเข็มขัดจากแถบอเมซอน เสื้อเชิ้ตจากฟิลิปปินส์ รถเชฟโรเล็ตที่เขาขับประกอบในอาร์เจนตินา ชุดผ้าไหมจากฮ่องกง ไข่มุกจากญี่ปุ่น ปลอกคอหมาจากอินเดีย แจกันจากปากีสถาน เครื่องเรือนทำในบราซิล ทั้งหมดนี้ด้วยค่าจ้างวันละสามสิบเซนต์
            เขาไม่ได้โทษผู้คนในประเทศทั้งที่ได้เอ่ยชื่อและไม่ได้เอ่ยถึง เพราะสามสิบเซนต์ที่แทบไม่มีความหมายแม้ในอัตราต่อชั่วโมงสำหรับคนงานอเมริกัน แต่ มันก็มากพอสำหรับแรงงานเหล่านั้นสำหรับการเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว บ็อบบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจาก ความโลภ” - ความโลภของระบบทุนนิยม
            จากศาสดาของเสรีชนเมื่อสองทศวรรษก่อน อาจดูเหมือนว่าบ็อบ ดีแลน ในต้นทศวรรษ 1980 กำลังกลายเป็นอนุรักษนิยมอย่างสมบูรณ์ หลังจากได้ละทิ้งเพลงโฟล์ก หันหลังให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ดำรงตนเป็นร็อกสตาร์ผู้ลึกลับ และเป็นคริสเตียนเกิดใหม่ มาคราวนี้ เขากำลังทวนกระแสระบบเศรษฐกิจเสรีที่จะนำพาโอกาส รายได้ และความเจริญไปยังประเทศด้อยพัฒนา เพียงเพื่อปกป้อง อะไรๆ ที่ผลิตกันในอเมริกาและรวมถึงผู้ใช้แรงงานอเมริกันที่มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าผู้ใช้แรงงานอีกค่อนโลก
            คงจำกันได้ว่า บ็อบไปไกลกว่านี้อีก บนเวทีคอนเสิร์ตไลฟ์เอด บ็อบเปรยขึ้นมาว่าน่าจะแบ่งรายได้ไปช่วยชาวไร่ชาวนาอเมริกันบ้าง แล้วก็ได้รับเสียงสวดส่งไปเยอะทีเดียว ทั้งในข้อหาไม่รู้จักกาละเทศะ และเป็นพวกชาตินิยมหลงยุค คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของคนชาติเดียวกัน       
            แต่บ็อบ ดีแลนไม่ใช่คนที่ตื้นเขินขนาดนั้น ถ้าเราไม่หลงประเด็นไปเสียก่อน ก็จะเห็นชัดว่าผลประโยชน์ของคนที่เขาปกป้องเป็นชนชั้นล่างที่เสียเปรียบในสังคมของเขา และเมื่อฟัง “Union Sundown” ซ้ำอีกหลายรอบก็จะพบว่าแกนกลางความคิดของบ็อบอยู่ตรงที่ เขาไม่ไว้ใจระบบทุน เขาอาจจะให้น้ำหนักส่วนใหญ่ของเพลงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วกับคนงานอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็บอกเป็นนัยว่าประเทศที่กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ให้กับทุนข้ามชาติก็จะต้องเจอกับภาวะเดียวกัน เพราะเมื่อเริ่มต้นกันด้วยความคิดที่ว่า เมื่อการผลิตที่นี่มันแพงเกินไป ก็ไปหาที่อื่นซึ่งผลิตได้ถูกกว่าเสียแล้ว ทุนเหล่านี้ก็พร้อมจะย้ายไปทุกหนแห่งในโลก หรือกระทั่งนอกโลก
            ความเป็นปฏิปักษ์ต่อการเติบใหญ่ของระบบทุนยังเห็นได้ชัดในท่อนที่เขาบอกว่าระบบนายทุนอยู่เหนือกฎหมายและแดกดันให้ว่าวันหนึ่งสวนครัวของคุณก็จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” (ที่เขียนขึ้นมาภายใต้บงการของนายทุน) นั่นเองที่ทำให้บ็อบบอกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ปกครองโลก จำใส่หัวเอาไว้เลย โลกนี้ปกครองกันด้วยความรุนแรง
            แม้บ็อบไม่ได้อรรถาธิบายที่มาที่ไปของท่อนนั้น รวมทั้งนิยามของความรุนแรงเพราะเขาตัดบทเพียงแค่ว่า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่าแต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สะท้อนมุมคิดของเขาต่อความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง ซึ่งพอจะประเมินได้ว่า การปกครองในนามของคนส่วนใหญ่ นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนักการเมืองเสมอมา บ็อบยังเห็นภาพที่คนอีกจำนวนมากยังมองไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัด คือภาพที่ทุนบรรษัทสามารถยืมมืออำนาจรัฐที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมาใช้จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกเสียใหม่เพื่อขยายขอบเขตแห่งการแสวงประโยชน์ของตน ออกไปอย่างไร้พรมแดน
            ความรุนแรงในเพลง “Union Sundown” จึงอาจหมายถึงทั้งความไม่ใยดีต่อผู้ใช้แรงงานชาติเดียวกัน และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงการกอบโกยเอาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศอื่น
            ในแง่นี้เรแกนโนมิคส์ที่นำมาซึ่ง โลกาภิวัตน์ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาฝันหวานถึงการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการล่าอาณานิคมในนามของพระเจ้า และในนามของความอารยะ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพียงแต่แนบเนียนกว่า และชวนสมยอมมากกว่าในนามของการลงทุน ระบอบประชาธิปไตย และระบบการค้าเสรี
สิ่งที่บ็อบ ดีแลน ทิ้งค้างไว้ในสายลม บรูซ ค็อกเบิร์น เป็นคนนำมาทำให้ชัดเจนขึ้นในเพลงชื่อ “Call It Democracy”**
            บรูซอาจไม่ได้มีสายโยงทางความคิดกับบ็อบ ดีแลน เพลงสองเพลงนี้ก็มีที่มาและอยู่ในบริบทที่ต่างกันพอสมควร แต่สิ่งทั้งคู่น่าจะมองเห็นเหมือนกันก็คือพลังอำนาจที่ยากจะต้านทานของระบบทุนนิยมที่กำลังมีอำนาจเหนือระบบการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ
            บรูซ ค็อกเบิร์น เป็นศิลปินโฟล์ค/ร็อคชาวแคนาดา มีผลงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1970 และประสบความสำเร็จพอสมควรในประเทศตัวเอง เดิมแนวเพลงของบรูซเกาะเกี่ยวกับคติพื้นบ้านและความเชื่อทางศาสนา ปัญหาวิกฤตการเงิน/คลังในกลุ่มประเทศละตินตอนต้นทศวรรษ 1980 โดยมีเม็กซิโกเป็นโดมิโนตัวแรก เป็นจุดเปลี่ยนความสนใจของบรูซ เขาเดินทางไปสัมผัสรับรู้สภาพปัญหาและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนในประเทศแถบนั้น นับจากนั้นมาเขาก็กลายเป็นนักดนตรี/นักเคลื่อนไหวที่ผูกโยงตัวเองไปกับ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ตลอดมา
            บรูซแต่งเพลง “Call It Democracy” เมื่อปี 1985 การรับรู้และทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาของละตินอเมริกาจากด้านของผู้คนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาส ทำให้บรูซอยู่ในซีกของกลุ่มที่เห็นว่าบทบาทของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เข้าไปช่วยกู้วิกฤตถูกมองว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าจะช่วยแก้ไข
            เพลงนี้ของบรูซน่าจะเป็นเพลงแรกๆ ที่ออกมาโจมตีไอเอ็มเอฟว่าเป็นเพียงเครื่องมือของทุนบรรษัทข้ามชาติที่หิวกระหาย การปรับโครงสร้างและกลไกเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอื้อให้บรรษัทได้ตักตวงผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้นได้สะดวกมือขึ้น เขาใช้คำแรงๆ อย่างไม่บันยะบันยัง ประณามกองทัพทุนว่ากระหายเลือดเนื้อของคนจน ผู้นำประเทศด้อยพัฒนาที่ทำตัวราวกับโสเภณีชั้นต่ำ การส่งเสริมการลงทุนและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศกลายเป็นค่ายแรงงานทาสสมัยใหม่ภายใต้นามของเสรีภาพที่ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์จากทรราชแห่งประเทศพัฒนาแล้ว
            และเมื่อพูดถึงไอเอ็มเอฟ บรูซก็มีสร้อยขยายความต่อให้ด้วย “IMF dirty MF” คำย่อสองตัวหลังจะยังมีความหมาย “Monetary Fund” หรือจะแผลงเป็นอื่น ก็แล้วแต่คนฟังจะนิยาม
            แล้วบรูซก็สรุปอย่างเยาะๆ ว่า นี่แหละที่พวกเขาเรียกมันว่าประชาธิปไตย”
กว่าสองทศวรรษหลังเพลงของบ็อบ ดีแลน และ บรูซ ค็อกเบิร์น สิ่งที่เคยสะท้อนแสดงในเพลงอาจเปลี่ยนไปบ้างในรายละเอียดตามพลวัตเศรษฐกิจโลก แต่การล่าอาณานิคมในยุคโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไป
            ความหมายของประชาธิปไตยแบบที่บ็อบถามหาก็ค่อยๆ เลือนลางลง จนอาจเป็นที่เข้าใจได้กระจ่างขึ้นว่า ทำไมเมื่อยี่สิบสามปีที่แล้วเขาถึงบอกว่า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่าในขณะที่ประชาธิปไตยแบบที่บรูซเยาะหยันก็คืบครองพื้นที่เหนืออำนาจอธิปไตย ของแต่ละรัฐชาติที่ทั้งสมัครใจและจำยอม ผูกมัดตัวเองกับข้อตกลงการค้าเสรีจนต้องยอมรับกันไปโดยปริยายว่า
            นี่แหละที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย
#
12 ธันวาคม 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2549)

*ฟังเพลง Union Sundown ได้จากลิงก์นี้ >>  http://music.truelife.com/player/song/20060118095948345820 
**ฟังเพลง Call It Democracy ได้จากลิงก์นี้ >> 
http://www.youtube.com/watch?v=68zccrskOqQ

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Middle of Nowhere

ความเป็นกลางเคยเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์แห่งการ (เอาตัว) รอดปลอดภัยในสังคมไทยเสมอมา
            หนุ่มมอเตอร์ไซค์ส่งหนังสือพิมพ์ในหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ตอบคำถามหญิงสูงวัยที่ออกมาขอเปลี่ยนหนังสือพิมพ์ฉบับที่เคยบอกรับเป็นฉบับอื่น ว่าเขาอยู่ข้างไหน ด้วยคำตอบที่ใครๆ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าผมเป็นกลางครับแล้วก็เลี่ยงไปส่งหนังสือพิมพ์บ้านอื่นต่อ
            ความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรมของความเป็นไทยก็คือ เราเคยชินที่จะแบ่งพวกเลือกข้างกันก็เฉพาะแต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ประเด็นปลีกๆย่อยๆ ที่ทั้งไม่ได้สะท้อนคุณค่าใดๆ  ทั้งแสดงถึงตรรกะความคิดแบบเหมารวม-แต่ว่างเปล่า
            เราจึงคุ้นเคยกับวิวาทะที่ถูกหลอมมาในเบ้าของ โค้กกับเป็ปซี่ไม่ว่าจะเป็น แกรมมี่-อาร์เอส (ศิลปิน-เพลง) อีซูซุ-โตโยต้า (รถกระบะ) โตโยต้า-ฮอนด้า (รถยนต์นั่ง) มาจนถึง ไทยรักไทย-ประชาธิปัตย์ ทักษิณ-สนธิ ซึ่งล้วนพัฒนาไปเป็นกระบวนคิดของการแบ่งฝ่าย ตีตรา และเอาชนะคะคานกันจนไม่มีที่ว่างสำหรับสารัตถะและเหตุผล
            เหมือนกับกรณีของคัทลียา แมคอินทอช ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นความขัดหรือเห็นแย้งของคนที่เลือกที่จะชอบหรือจะชังเธอ อันได้กลบเลือนสาระประเด็นที่เป็นจุดตั้งต้นนั้นไป และในที่สุดก็ได้เปิดพื้นที่ให้กระบวนการชำระล้าง-สร้างความเห็นอกเห็นใจได้แทรกเข้ามาทำหน้าที่อย่างแนบเนียน เมื่อเวลาผ่านไป ไม่เพียงแต่เกิดภาวะอภัยแต่ไม่ลืมแต่คนจำนวนหนึ่งอาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าจะต้องอภัยในเรื่องไหน ประเด็นใด
            ในทางตรงข้าม วิถีแห่งความเป็นไทยก็เป็นเบ้าหลอมของความเป็นกลาง-วางเฉยต่อความคิดขัดแย้ง ระดับที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางสังคม ภายใต้กรอบคิด เพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ภายใต้คติ ไทยนี้รักสงบและยิ้มรับกับคุณลักษณ์แห่งความเป็นไทยซึ่ง สงสารเห็นใจผู้แพ้แม้จะรู้ดีว่า พ่วงมาด้วยถ้อยคำตามท้ายในวงเล็บ (แต่ขออยู่ข้างผู้ชนะ)
Credit: http://gardenspictures.net/Maze-garden.html

สภาวะเดิม เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติสากลของมนุษย์ที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการเปรียบเปรยว่า เราต่างพอใจที่จะอยู่กับปีศาจ (หรือความเลวร้าย/มืดมน) ที่เราคุ้นเคย มากกว่าที่จะเปิดรับความเปลี่ยนแปลง (แม้ในทางที่ดีกว่า/แสงสว่าง) ที่เรายังไม่รู้จัก
            การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในโลกนี้ จึงมักจะจุดประกายโดยคนกลุ่มน้อยที่ด้อยค่าในเชิงปริมาณ หรือกระทั่งคนเพียงคนเดียวที่เปิดรูเล็กๆ ให้แสงสว่างได้ลอดเข้าไปในบ้านที่มืดมิด ความยากของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ช่วงตอนของการรักษารูสว่างนั้นไว้ไม่ให้ถูกอุดยาไป และการเจาะช่องรับแสงเพิ่มจนกว่าลำแสงใหม่จะทำให้ความสว่างปรากฏขึ้นในระดับที่สามารถแสดงคุณค่า/ความหมายโดยเปรียบเทียบ และเป็นที่คุ้นเคย
            โดยนัยนี้ ความเป็นกลางจึงไม่เคยมีความหมายของการไม่เลือกข้างอย่างแท้จริง แต่อิงแอบอยู่กับสภาวะเดิมเสมอ เช่นเดียวกัน คำถามและเสียงเรียกร้องของการเลือกข้างในประวัติศาสตร์มนุษย์ ล้วนเริ่มต้นอย่างแผ่วเบา
            ก่อนที่เพลง We Shall Overcome ที่ดัดแปลงมาจากเพลงกอสเพลจะกลายมาเป็นเพลงที่หลอมรวมความเชื่อมั่นศรัทธาในวิถีการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ของอเมริกา นับจากปี 1946 เป็นต้นมา เพลงคลาสสิคแห่งการต่อสู้เรียกร้องในยุคก่อนหน้านั้น เป็นเพลงที่ตั้งคำถามถึงการเลือกข้าง
            ปี 1931 คนงานเหมืองแร่ในฮาร์ลัน เคาน์ตี้, เคนทักกี้ นัดหยุดงานประท้วง สิ่งที่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของเหมืองคือการกวาดล้าง-จับกุม-เข่นฆ่า โดยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง คนงานเหมืองจึงจับอาวุธขึ้นต่อสู้ กลายเป็นสงครามชนชั้นขนาดย่อมๆ
            ฟลอเรนซ์ รีซ เขียนเพลง “Which Side Are You On?” จากชีวิตของเธอ สามีเธอ-แซม เป็นหนึ่งในผู้นำคนงานเหมืองที่เป็นเป้าของการกวาดล้าง แต่เขาหลบหนีขึ้นเขาไปต่อสู้ด้วยอาวุธ เธอกับลูกเจ็ดคนถูกปิดล้อมอยู่ในบ้านโดยเจ้าหน้าที่ติดอาวุธของนายอำเภอ-เจ.เอช. แบลร์ ซึ่งพร้อมที่จะสังหารสามีของเธอทุกเวลาหากเขาย้อนกลับมา
            วันหนึ่งในสถานการณ์ตึงเครียด ฟลอเรนซ์ฉีกปฏิทินข้างฝาลงมาเขียนคำถามที่กัดกินใจเธอมานาน “Which side are you on?” เป็นคำถามถึงเพื่อนคนงานร่วมเมืองที่รักษาตัวเป็นกลางและวางเฉย “They say in Harlan County / There are no neutral there / You either be a union man / Or a thug for J.H. Blair”
            อีกชุดหนึ่งของคำถามในเพลงคือ  “Oh workers can you stand it? / Oh tell me how you can? / Will you be a lousy scab / Or will you be a man?”
            เพลงนี้ถ่ายทอดต่อมาโดยศิลปินมวลชนอย่างวูดดี กูธรี และพีท ซีเกอร์ ในฐานะคำถามอมตะท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิ-เสรีภาพ-เสมอภาค
ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ และบ่อยครั้งที่รวบรัดเสมือนหนึ่งชัยชนะการต่อสู้เปลี่ยนแปลงใดๆ ปะทุอานุภาพขึ้นทันทีทันใด โดยคลื่นมหาชนอันไพศาล
            ในแง่นั้น คงยากจะอธิบายว่าเพียงสามปีหลังการแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยและขับไล่เผด็จการถนอม–ประภาสออกไปในปี 2516 เราเปิดประตูรับหรืออย่างน้อยก็สยบยอมอำนาจจากการรัฐประหารภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้อย่างไร
            ยากจะอธิบายถึงการนองเลือดเดือนพฤษภาเพื่อล้มล้างอำนาจ รสช. ที่เราเพิ่งแสดงความชื่นชมยินดีกับการเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายไปเพียงไม่นานก่อนหน้านั้น ทั้งรัฐบาลชาติชายยังเป็นรัฐบาลที่เรารอคอยมาแสนนานภายใต้ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
            ตัวอย่างคำถามเหล่านี้คงต้องศึกษาอธิบายถึงรายละเอียดของสถานการณ์แต่ละช่วงตอนจากจุดเริ่มจนพัฒนาและปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากอคติ เพื่อให้เห็นถึงบริบทและคติชนที่แตกต่างในแต่ละสมัย กระแสโน้มน้าวชักนำที่ได้ผลและไม่ได้ผลในแต่ละแง่มุม อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่ไม่อาจละเลยคือการเลือกข้างหรือวางเฉย
            เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างเสมอไปก็จริง และความเป็นกลางอาจไม่ได้สะท้อนแสดงถึงฐานคิดแห่งการเอาตัวรอดหรือปฏิเสธความรับผิดชอบ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง/เผชิญหน้าระหว่างแนวคิด-ลัทธิ-ผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต่างกันก็จริง
            แต่ในทางแยกใหญ่ที่การไม่เลือกข้างเท่ากับการเลือกเดินไปตามทางสายหนึ่งที่มีผลลัพธ์-ปลายทางต่างจากอีกสายหนึ่งเกือบจะสิ้นเชิง ความเป็นกลาง-วางเฉยจึงเป็นการเลือกโดยปฏิเสธความรับผิดชอบของการเลือก
            หากคนอินเดียเฉยชาต่อแนวทางอหิงสาของคานธี สภาวะเดิมของการครอบครองอาณานิคมโดยชอบธรรมของจักรภาพที่ทรงพลังอำนาจย่อม ไม่ถูกสั่นคลอน หากคนอังกฤษและยุโรปที่อพยพไปยังดินแดนใหม่ยังยอมตนให้สิทธิเหนือเขตแดนและการเก็บภาษีเป็นอำนาจชอบธรรมของพระเจ้าจอร์จที่สาม ประเทศเอกราชชื่อสหรัฐอเมริกาคงจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี
            การต่อต้านระบอบทักษิณอาจไม่ได้มีความหมายสูงส่งเท่ากับการกู้ชาติ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้องของกุ๊ยข้างถนนหรือวิธีการนอกกรอบกติกาของพรรคฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพียงการดิ้นรนของเหล่าขาประจำ-นักเคลื่อนไหว-เอ็นจีโอ ไม่ใช่เพียงความแค้นเคืองของผู้เสียประโยชน์ที่มีสนธิ-จำลองเป็นตัวแทน หากเป็นผลรวมสะสมของผู้คนที่ได้ตระหนักว่าไม่อาจปล่อยให้ชะตากรรมของประเทศถูกขยี้ขยำอยู่ในกำมือทักษิณอีกต่อไป
            พฤติกรรมที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับตลอดช่วงเวลาห้าปีแห่งการเสวยอำนาจของทักษิณ นับจากวันที่ชนะคดีซุกหุ้นในศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงวันที่ยุบสภาและวันเลือกตั้งใหม่ โดยตัวของมันเองล้วนลดทอนน้ำหนักของวาทกรรมทุกรูปแบบที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นการต่อต้านคัดค้าน ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างความชอบธรรมที่มี 19 ล้านเสียงรองรับ การรักษาระบบ การเคารพกฎกติกา เจตนารมณ์ประชาธิปไตย อย่างได้ผลยิ่งกว่าทุกเสียงที่วิพากษ์ คัดค้าน ต่อต้าน
            ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งผิดที่ผิดทางในสถานการณ์ประเทศไทย พ.ศ. 2549 อย่างที่เรียกกันว่า กลางตกขอบซึ่งอาจจะชัดเจนมากกว่าถ้าเปลี่ยนเป็น กลางตกเหว
            เพราะเมื่อผ่าทะลุมายาคติทั้งมวล เนื้อในของสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ไม่อาจถูกบิดเบือนไปเป็นเรื่องของผล ประโยชน์-แนวคิด-อุดมการณ์ ที่อาจจะพอมีที่ว่างพอให้ความเป็นกลางได้วางตัว แต่เป็นสถานการณ์ระหว่างความจริง-ลวง ถูก-ผิด ดี-เลว ความเป็นกลางจึงมีความหมายเป็นอื่นใดไม่ได้มากไปกว่าการสยบยอมต่อความเลว ความผิด ความลวง
            เป็นความเป็นกลางที่ดิ่งลงไปในหุบเหวของอวิชชาและอุปาทาน
            เป็นความเป็นกลางที่เกื้อหนุนให้คนเลวปกครองบ้านเมืองต่อไป
#
3 เมษายน 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2549)

*ฟังเพลง  Which Side Are You On? ได้จากลิงก์นี้