วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Float On

ผมสังเกตเห็นว่า คนที่เดินออกมาจากหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา (2553) ล้วนมีความสุข
            ต่างกับสามชั่วโมงก่อนหน้านั้น ที่ดูเหมือนคละเคล้ากันระหว่างคนที่รอเวลาอย่างหมายมั่น คาดหวัง และไม่แน่ใจ
            ตัวผมเองก็น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มหลังสุด และความไม่แน่ใจที่ฉาบอยู่ คงไม่ได้อยู่ที่ว่า การแสดงโขน ชุด “นางลอย” จะงามจริงสมคำร่ำลือหรือไม่ เพียงแต่สงสัยในรสชาติว่าจะปรุงออกมาถูกลิ้นถูกปากขนาดไหน
            ความสงสัยนั้นค่อยๆ ละลายไปตั้งแต่องค์ที่ 1 และพอถึงองค์ที่ 3 ก็แน่ใจได้ว่า นี่คือรสชาติของศิลปการแสดงอันโอชะที่ถูกใจคนดูโดยถ้วนหน้า

(ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)
ผมมารู้ตัวว่าต้องหาบัตรไปดู “นางลอย” ที่กลับมาเปิดแสดงอีกครั้ง ก่อนที่จะพลาดไปเลย ก็ตอนที่เหลือเวลาแสดงอีกสองวัน และบัตรที่ยังมีเหลือให้ซื้อคือบัตรราคา 200 บาท-เท่านั้น
            หลังการแสดงจบลง ผมอาจจะพูดเล่นๆ ได้ว่า นี่คือการจ่ายค่าบัตร (ชมการแสดง) ที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต แต่ถึงยังไง ผมก็ยังอยากจะได้ที่นั่งแถวหน้าๆ ราคา 1,000 หรือ 800 บาท มากกว่าที่จะปีนบันไดผ่านชั้นสอง ชั้นสองครึ่ง ขึ้นไปจนถึงชั้นสาม แล้วก็นั่งตัวลีบๆ (แอบ) ดูอยู่สูงๆ ไกลๆ เหมือนปีนต้นไม้แอบดูการแสดงดนตรีในงานวัด
            โดยที่ยังจะพูดเหมือนเดิมด้วยว่า เป็นค่าบัตรที่คุ้มมาก
            เพราะต่อให้ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย แค่ดูเอาจากเครื่องเคราและอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหมด ใครๆ ก็รู้ว่า ราคาบัตรแทบไม่ได้ไปช่วยตัดต้นทุนการจัดแสดงสักเท่าไรเลย ถ้าจะตั้งราคากันจริงๆ ใบละหลายๆ พันตามมาตรฐานการแสดงบัลเล่ต์จากรัสเซียที่มีมาให้ดูกันทุกปี ก็ยังไม่รู้จะเอาอยู่แค่ไหน แถมยังจะไปตัดโอกาสคนอีกมากที่อยากดูแต่กำลังซื้อไม่พอ อีกต่างหาก
            เป็นโชคดีของคนไทย ที่การแสดงโขนนี้จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตามพระราชเสาวนีย์ให้มีการจัดแสดงต่อเนื่องทุกปี หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแสดงชุด “พรหมาศ” เมื่อ พ.ศ. 2550 และ 2552 เพราะถ้าหากเกิดขึ้นและเป็นไปในวงจรธุรกิจการแสดงตามปกติ เราก็คงไม่สามารถคาดหวังอะไรแบบนี้ได้เลย
            พูดอีกอย่างก็คือ ถึงที่สุดแล้ว งานศิลปะทุกยุคสมัยมีชีวิตชีวาได้ก็ด้วยการ “อุปถัมภ์” และยังต้องการผู้อุปถัมภ์ที่เห็นคุณค่าของศิลปะนั้น
            ไม่อย่างนั้น เราก็คงจะได้เห็นแต่ภาพของหน่วยงานอย่าง สสส. เอาเงินจากภาษีของเราไปแย่งกัน “อุปถัมภ์” คอนเสิร์ตของซูเปอร์สตาร์สร้างใหม่จากเกาหลี ซึ่งแม้จะมีสปอน “เซ่อ” มากมาย ก็ยังตั้งราคาขายบัตรแบบตั้งใจรวยไปถึงลูกถึงหลานเลยทีเดียว
ผมไม่ได้ดู “พรหมาศ” และไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับโขนมากกว่าหรือมากเท่าที่ “คุณ” (ก็ คุณ ที่กำลังอ่าน นั่นแหละ) รู้ จึงน่าจะเป็นโชคดี ที่ผมได้เริ่มต้นกับชุด “นางลอย”
            การแสดงคราวนี้ ได้นำบทคอนเสิร์ตชุด “นางลอย” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาเป็นแนวทางในการดัดแปลง ผู้รู้บอกว่า เป็นการลดความยากในบางส่วน เพิ่มความร่วมสมัยในบางส่วน ซึ่งให้ผลลัพธ์เป็นงานแสดงที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และประทับใจได้มากขึ้น
            สิ่งที่เห็นชัดก็คือการออกแบบฉาก ซึ่งว่ากันว่าลดความอลังการลงจากชุดที่แล้ว แต่มีมุมมองและเพอร์สเปคทีฟใหม่ๆ โดยที่ยังคงความวิจิตรประณีตอยู่เต็มที่ การคิดใช้ประโยชน์จากสถานที่ได้เต็มๆ ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องชม ที่เด่นมากคือฉากที่ สีดา(ปลอม) ลอยน้ำมาถึงพลับพลาของพระราม เขาใช้หลุมหน้าเวที-ซึ่งปกติเป็นที่สำหรับวงซิมโฟนี-ทำเป็นแม่น้ำ กับการใช้ลวดสลิงในฉากเหาะของเบญจกาย ซึ่งแม้จะไม่ใช่เทคนิคใหม่อะไร แต่ก็ถือเป็นการปรับใช้กับการแสดงแบบเทรดิชั่นได้ชวนตื่นตาตื่นใจทีเดียว
            ในภาพใหญ่หรือภาพรวมของ “รามเกียรติ์” เบญจกายอาจไม่ใช่ตัวละครที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ แต่เมื่อทอนมาเป็นโขนชุด “นางลอย” เบญจกายก็เป็นทั้งนางเอกและตัวเดินเรื่อง ซึ่งต้องใช้ผู้แสดงถึงสามคน คนหนึ่งเป็นเบญจกาย คนหนึ่งเป็นสีดาปลอม และอีกคนหนึ่งแสดงในฉากที่ต้องขึ้นรอกสลิง ระหว่างเบญจกายกับสีดา คนดูจะได้เห็นความต่างที่ชัดเจนของท่ารำระหว่างยักษ์กับมนุษย์ ซึ่งผู้ที่แสดงเป็นสีดาปลอม ก็ได้โชว์ฝีมือเต็มที่ในฉากรำฉุยฉาย ส่วนคนที่ขึ้นเหาะด้วยสลิง ถ้าไม่บอกและดูกันแต่ท่ารำ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นผู้ชาย
            ตัวละครเอกอีกตัวในตอนนี้ คือ ทศกัณฑ์ ซึ่งเป็นฝ่ายยักษ์ฝ่ายมารก็จริง แต่เป็นตัวละครที่ชนะใจคนดูได้เด็ดขาด ในประเด็นนี้ อาจารย์ใหญ่ของเรา กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน เคยเขียนเอาไว้แล้วใน คอลัมน์ละคร เมื่อสามเล่มก่อน
            “คนที่ชนะใจคนดูได้อย่างเด็ดขาด และแสดงถึงความล้ำลึกในท่ารำของไทยก็คือ ทศกัณฑ์ โดยเฉพาะในฉากที่ เบญจกาย แปลงตัวเป็น สีดา แล้วขึ้นไปเฝ้า ทศกัณฑ์ คิดว่าเป็น สีดา จริง จึงเข้าไปเกี้ยว เมื่อรู้ความจริงว่านี่คือหลานของตนเอง ก็แสดงอาการเขินอายออกมาด้วยท่ารำ จนคนดูสามารถมองเห็นสีหน้าของ ทศกัณฑ์ ได้ทั้งๆ ที่สวมหัวโขนบังเอาไว้หมด แล้วยังพาลไปตบหัวนางกำนัลที่เฝ้าเรียงรายอยู่แก้เขิน ก่อนจะรำด้วยอาการวางก้ามใหญ่โตกลับไปนั่งบนบัลลังก์”
ภรรยาผมเป็นคนหนึ่งที่ติดใจทั้งลีลาเจ้าชู้ยักษ์และอาการขวยอายของทศกัณฑ์
            เธอบอกว่าเทียบกับลีลาไล่ล่าพลางวอแวพลางของหนุมานตอนตามจับเบญจกาย ซึ่งเป็นไฮไลท์อีกช่วง “มาด” ของทศกัณฑ์ภาคพื้นดิน ก็ยังเหนือชั้นกว่าหนุมานภาคเหาะเหินเดินอากาศเยอะเลย แต่ที่ “จืด” สนิท ก็คือ พระราม และพระลักษณ์ ซึ่งทั้งบทน้อยและไม่มีอะไรให้จดจำ
            แล้วเธอก็เลยแสดงความเห็นเลยเถิดไปถึงประดา “พระเอก” ในวรรณคดี จนผมต้องเย้าว่า พูดจาอย่างกับฝ่ายซ้ายเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ออกมาชักชวนให้เรา “เผาวรรณคดี”
            สมัยนั้น สำหรับฝ่ายซ้ายกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่เราเรียกกันอย่างรักใคร่ว่าเป็นพวกปีกซ้ายที่ไร้เดียงสา งานศิลปวรรณกรรมที่อยู่นอกกระแสศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ดูจะเป็นสิ่งที่น่าทำเชื้อไฟเสียทั้งนั้น ที่จริงการวิพากษ์วรรณคดีและวรรณกรรมตามกรอบคิดแบบมาร์กซิสม์ ก็มีหลายมุมที่น่าสนใจ ผมเองก็รับเอามาหลายอย่าง แต่ผมและหลายๆ คนไม่เห็นความจำเป็นที่เราจะต้องไปทำลายล้างอะไร ซึ่งที่สุดแล้วก็เป็นเพียงสิ่งซึ่งได้สะท้อนคติ ขนบ กระบวนคิด และลีลา ของแต่ละชนชั้น จากแต่ละยุคสมัย ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้
            เมื่อถึงจุดหนึ่ง คติ ขนบ กระบวนคิด และลีลาเหล่านั้น ก็ล้วนคลี่คลายไปตามสภาวะแห่งยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในขณะที่ส่วนซึ่งเป็นคุณค่า ก็จะยังคงเป็นคุณค่าอยู่อย่างนั้น
            คติเรื่องของ “พระเอก” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด มาถึงทุกวันนี้ ตัวพระในวรรณคดีที่เรารู้จักกันดี ไม่ใช่พิมพ์ที่ใช้ได้มานานแล้ว ไม่ว่าในงานศิลปะหรือวรรณกรรมแขนงใด และยิ่งไม่ใช่พระเอกในฝันหรือไอดอลของใครในยุคสมัยแบบนี้ แต่คุณค่าทางศิลปการประพันธ์ ความงามทางวรรณศิลป์ และคมคายเชิงฉันทลักษณ์ คือคุณค่าที่อยู่เหนือกาลเวลาและเหนือคติ-กรอบคิดใดๆ
            การแสดงโขนคราวนี้ก็เหมือนกัน เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมให้คนจำนวนมากมายหลายรุ่นได้ดื่มด่ำกับการแสดงชั้นสูง ที่งดงาม อลังการ ซึ่งคุณค่าที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ระดับความสูงทางชนชั้น-สถานะ หรือการการปีนกระไดดู แต่เป็นความสูงส่งด้านความวิจิตร ประณีต ในทุกองค์ประกอบ ที่ต้องอาศัยความพากเพียรอันสูงส่งพอกัน ในการดำรงรักษาและเผยแพร่คุณค่าของศิลปการแสดงแขนงนี้ สู่คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นต่อๆไป
            ซึ่งผมแน่ใจว่า เกือบจะร้อยทั้งร้อยที่ได้มาดู “นางลอย” ไม่ว่าจะเคยดูโขนมาก่อนหรือไม่ ต่างก็ได้ซึมซับรับเอาคุณค่าทั้งหมดของการแสดงแขนงนี้ไว้แล้วอย่างเต็มเปี่ยม และต่างเฝ้ารอการแสดงครั้งต่อไป ในเดือนกรกฎาคม ปีหน้า ซึ่งประกาศออกมาแล้วว่าจะเป็นตอน “ศึกไมยราพ”   
            ผมก็จดลงปฏิทินไว้แล้วเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องทรมานสังขารกับการแอบดูอยู่สูงๆ ไกลๆ อีก
#
30 พฤศจิกายน 2553
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2553)

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

See through

มีคนชอบพอกันมาถามผมว่า จะไม่ร่วมลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับใหม่) กับเขาเสียหน่อยหรือ?
            ผมก็ตอบไปอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาที่สุด ว่า:
1.      ผมเลิกลงชื่อคัดค้าน ต่อต้าน ประท้วง อะไรต่อมิอะไรมาหลายปีแล้ว
2.      ผมไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะคัดค้านหรือเห็นด้วย เพราะไม่ได้สนใจติดตามเรื่องนี้
            แต่เสียงผมคงจะงึมงำไปบ้าง เพราะดูเหมือนคำว่า “ไม่ได้สนใจติดตาม” กลายเป็นที่เข้าใจเพียงว่า “ไม่ได้ติดตาม” ผมก็เลยได้รับลิงก์ จดหมายเปิดผนึกที่เชิญชวนให้ประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกันหยุดการนำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กับลิงก์ที่วิจารณ์ฎหมายใหม่ในประเด็นสำคัญ รวม 10 ประเด็น
            เป็นกรรมของคนเสียงไม่ดัง แท้ๆ เชียว
ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ไม่ทันเข้าที่ประชุม ครม. เพราะมีการถอนเรื่องออกก่อน
            จะโดยเหตุที่มีผู้ค้าน และถือเป็นชัยชนะเบื้องต้นของคนค้าน (ซึ่ง ณ เวลานั้นลงชื่อกันไปประมาณหนึ่งพันคน) หรือโดยมารยาทของรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระ (ตามที่นายกฯ ได้ประกาศว่าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่) ก็ดูเหมือนจะไม่มีความต่างในสาระสำคัญ เพราะเสียงค้านดูจะยังไม่มีความหมาย-โดยเฉพาะในเชิงปริมาณ-ที่จะไปหยุดยั้งอะไรได้จริงๆ ส่วนมารยาทของรัฐบาลก็คงแสดงออกได้แค่ประเด็นที่ไม่มี(ผล)ประโยชน์แบบนี้เท่านั้น ในขณะที่การอนุมัติจัดซื้อและโครงการที่มีงบประมาณมากๆเกี่ยวข้องก็เร่งผ่านกันไปเป็นที่เพลิดเพลิน-เหมือนกันทุกพรรค ทุกสมัย
            ในพันกว่ารายชื่อที่ลงกันไป ไม่มีชื่อผมลงรวมอยู่ด้วย ทั้งที่ตอนแรกอ่านจดหมายเปิดผนึก เขาก็เขียน “จูง” เอาไว้ดี “สาระสำคัญของร่างกฎหมายสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการที่อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น นอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญที่ยิ่งสวนทางกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” และการเรียกร้องว่า “ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเสนอข้อแก้ไขหรือทำประชาพิจารณ์” ก็ถือว่า “ควรแก่เหตุ”
            แต่พออ่านเนื้อหาจริงๆ มันไม่ใช่นี่นา
สาระสำคัญ 10 ประเด็น ที่ดูเหมือนเยอะ และอ้างว่าทำให้คนกลัว เมื่ออ่านดูแล้ว ผมคิดว่าถ้าจะเป็นเรื่องน่ากลัวก็คงเฉพาะกับพวกละเมิดลิขสิทธิ์ กับพวก(แอบ)กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ เท่านั้น ถ้าจะเพิ่มเติมจากนี้ ก็คงจะเป็นพวกจิตอ่อน
            ไม่ถึงขนาดที่จะมาอ้างกันว่า “ร่างกฎหมายนี้จะทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนมีโอกาสทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว”
            ผมลองไล่ดูประเด็นตามที่กลุ่มผู้ค้าน-ซึ่งนำโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้วิเคราะห์และนำเสนอไว้ พบว่าประเด็นว่าด้วยการให้หน้าที่หน่วยใหม่ คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ในมาตรา 6 เป็นประเด็นที่ตัดออกไปได้ก่อน เพราะเป็นการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายเพิ่มขึ้นมา และข้อสังเกตของโครงการฯ ก็ไม่ได้ชี้ประเด็นอะไรในทางที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวาดกลัว
            อีกสามประเด็นที่ผมไม่เห็นว่ามีน้ำหนักเชิงคัดค้านคือ ประเด็นว่าด้วยไฟล์ลามกเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งมาตรา 25 บัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            ทางโครงการฯ ทักท้วงว่ายังมีความคลุมเครือของ “ลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน” นั้นหมายความอย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าจริง (และเป็นปัญหามาตรฐานของกระบวนการร่างกฎหมายไทย) แต่ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องนิยามในกฎหมายฉบับนี้ ทั้งขอบเขตของลักษณะอันลามก (ในกรณีทั่วไป) ก็มีแนวทางคำพิพากษาของศาลและการวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่/อัยการที่อ้างอิงได้อยู่แล้ว
            ส่วนมุมวิเคราะห์ที่ว่า “มาตราดังกล่าวยังเป็นการเอาผิดที่ผู้บริโภค ซึ่งมีความน่ากังวลว่า การชี้วัดที่ การครอบครองอาจทำให้เกิดการเอาผิดที่ไม่เป็นธรรม เพราะธรรมชาติการเข้าเว็บทั่วไป ผู้ใช้ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าการเข้าชมแต่ละครั้งดาวน์โหลดไฟล์ใดมาโดยอัตโนมัติบ้าง และหากแม้คอมพิวเตอร์ถูกตรวจแล้วพบว่ามีไฟล์โป๊เด็ก ก็ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ดูผู้ชม” นั้น... ตลกมาก
            อันนี้ก็ตลกอีกแหละ: ประเด็นเกี่ยวกับการคัดลอกไฟล์โดยมิชอบ ซึ่งมาตรา 16 บัญญัติว่า “ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางโครงการฯ วิเคราะห์ว่า “มาตรานี้อาจมีไว้ใช้เอาผิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือเพลง แต่แนวทางการเขียนเช่นนี้อาจกระทบไปถึงการแบ็กอัปข้อมูล การเข้าเว็บแล้วเบราว์เซอร์ดาว์นโหลดมาพักไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติหรือที่ เรียกว่า แคช” (cache เป็น เทคนิคที่ช่วยให้เรียกดูข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น โดยเก็บข้อมูลที่เคยเรียกดูแล้วไว้ในเครื่อง เพื่อให้การดูครั้งต่อไป ไม่ต้องโหลดซ้ำ) ซึ่งผู้ใช้อาจมิได้มีเจตนาหรือกระทั่งรับรู้ว่ามีกระทำการดังกล่าว”
            คล้ายๆ กัน ประเด็นความผิดเกี่ยวกับโปรแกรมทะลุทะลวง ซึ่งใช้ในการทำความผิดเกี่ยวกับระบบและ/หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ผู้อื่น (ตามมาตรา 15-20) ซึ่งทางโครงการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า “เพียงแค่ทำซ้ำ หรือมีไว้ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เจาะระบบ การก๊อปปี้ดาวน์โหลดไฟล์อย่างทอร์เรนท์ การดักข้อมูล การก่อกวนระบบ ก็มีความผิด” และ “เรื่องนี้น่าจะกระทบต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรง”
            ขำก็ขำนะครับ แต่ก็เริ่มเพลียละ เพราะในกรณีแบบนี้ ผมคงลงความเห็นได้สองอย่าง ถ้าไม่ตั้งใจจะขยายภาพให้กฎหมายฉบับนี้แลดูน่ากลัวเพื่อหวังจะได้จูงกันมาร่วมคัดค้านมากๆ ก็คงเป็นปัญหาวิจารณญาณของคนที่คิดว่าคนอื่นจะมีวิจารณญาณเท่าๆกัน
สองประเด็นเกี่ยวกับ การลดโทษผู้ส่งสแปมเพื่อประโยชน์ทางการค้า และก่อความเดือดร้อนรำคาญ (มาตรา 21) กับ การเพิ่มโทษการเจาะระบบ (มาตรา 25) ผมเห็นเป็นการปรับให้เหมาะสมกับลักษณะความผิด ซึ่งไม่มีนัยสำคัญอะไร
            อีกหนึ่งประเด็นที่อาจจะอยู่นอกบริบทของกฎหมายฉบับนี้ คือ สัดส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน (นายกฯ, รมว.ที่เกี่ยวข้อง, ผบ.ตร., สมช., สำนักข่าวกรอง) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งโดย ครม. 3 คน ซึ่งโครงการฯ เห็นว่าสมควรมีสัดส่วนจากภาคประชาชนร่วมด้วย ซึ่งผมไม่ได้เห็นต่าง แต่คิดว่าสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการใดๆ ของรัฐ เป็นเรื่องที่น่าจะลงแรงผลักดันกันในระดับโครงสร้างใหญ่ พิจารณากันในระดับปรัชญาการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับลักษณะวัตถุประสงค์-อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระดับชาติประเภทต่างๆ
            ไม่ใช่ทำกันกระปริบกระปรอยตามความพอใจหรือไม่พอใจของใคร
            ถึงตรงนี้ ผมมองว่าสาระของการคัดค้านหรือไม่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็จะเหลือเพียง 3 ประเด็น หนึ่ง-คือ การเพิ่มนิยาม “ผู้ดูแลระบบ” และกำหนดความรับผิด ซึ่งทางโครงการฯ ตีความนิยามว่า อาจหมายความถึงเจ้าของเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ แอดมินระบบเครือข่าย แอดมินฐานข้อมูล ผู้ดูแลเว็บบอร์ด บรรณาธิการเนื้อหาเว็บ เจ้าของบล็อก” และตีความต่อไปว่ามีฐานะเป็น “ตัวกลาง” เช่นเดียวกับ “ผู้ให้บริการ” (ที่มีมาตั้งแต่กฎหมายเดิม) ซึ่ง “ตัวกลาง” ที่ว่านี้ “ต้องรับโทษเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด เช่น หากมีการเขียนข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ผู้ดูแลระบบและผู้ให้บริการที่จงใจหรือยินยอมมีความผิดทางอาญาเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด” ผลก็คือจะเกิด “ความหวาดกลัวและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง”
            การวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นนี้อาจทำได้ยืดยาว แต่ถ้าเรามองความรับผิดของ “ผู้เขียน/ผู้พิมพ์/ผู้โฆษณา” ในโครงสร้าง “สื่อเก่า” และเป็นความรับผิดที่เป็น “สากล” ความรับผิดของ “ผู้ให้บริการ/ผู้ดูแลระบบ” ก็ไม่น่าจะมีข้อยกเว้นเพราะเป็น “สื่อใหม่” เว้นเสียแต่ว่าเราจะอยากอยู่ร่วมกันบนฐานของการที่ใครทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิด
            สอง-คือ ความผิดฐานดูหมิ่น ตามมาตรา 26 ซึ่งทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียง ทางโครงการฯ ยอมรับว่า กฎหมายเดิมไม่มีมาตราใดที่ใช้ฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาทได้ตรงประเด็น (ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามกฎหมายอาญา ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงสื่อคอมพิวเตอร์ชัดเจน) แต่ก็แปลกที่โครงการฯ ชี้ประเด็นนี้ไปในมุมที่ว่า “สร้างความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ใช้ตั้งข้อหาการดูหมิ่นต่อกันได้ง่ายขึ้น” และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในเชิงเปรียบเทียบว่า “การหมิ่นประมาทในกรณีปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
            อันนี้เป็นเรื่อง “ผิดปกติ” มากสำหรับผู้ที่ “อ้าง” หรือ “ทำให้เชื่อว่า” ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะโทษตามกฎหมายอาญาที่นำมาเปรียบเทียบเป็นความผิดตามมาตรา 326 “ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง” แต่ความผิดตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องเทียบกับมาตรา 328 “ความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา” และกำหนดโทษไว้ที่ “จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท” ซึ่งโทษจำคุกสูงสุดน้อยกว่า แต่โทษปรับมากกว่า และไม่ได้ต่างกันมากเหมือนการเปรียบเทียบของโครงการฯ
            สาม-คือ (และเหลือ) ประเด็นเดียวที่รองรับการกล่าวหาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น” โดยอ้างถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 24 (1) บัญญัติว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
            ทางโครงการฯ บอกว่าเจตนารมณ์เดิมของ “คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง” หมายถึงการหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing) แต่การตีความและขยายความที่ผ่านมาทำให้กลายเป็นเรื่องการเขียนเนื้อหาอันเป็นเท็จ ซึ่งนำไปใช้ฟ้องร้องกันในเรื่องการหมิ่นประมาท และบัดนี้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของประเทศ/ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งจะนำไปสู่  “ก่อให้การเอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะหลายกรณี รัฐไทยเป็นฝ่ายครอบครองการนิยามความจริง ปกปิดความจริง ซึ่งย่อมส่งผลให้คนหันไปแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตแทน อันอาจถูกตีความได้ว่ากระทบต่อความไม่มั่นคงของ รัฐบาลข้อความกฎหมายลักษณะนี้ยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็น”
            การพิจารณาเรื่องนี้ ผมคิดว่าจำเป็นต้องแยกเรื่อง phishing ออกไปก่อน เพราะไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันโดยการตีความผิดหรือขยายความเกิน หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรวมกันให้สับสน ทั้งความผิดกรณี phishing ก็น่าจะระบุไว้ในมาตรา 18 แล้ว ประเด็นอยู่ที่ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ควรครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของประเทศหรือก่อก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” หรือไม่ มีนิยามที่ยอมรับกันเกี่ยวกับความมั่นคงและความตื่นตระหนกที่ว่านั้นแล้วหรือไม่
            ผมขอไม่ตอบคำถามนี้ด้วยอัตวิสัยของตัวเอง แต่อยากจะตั้งคำถามต่อไปมากกว่า
            ถามว่า คนประเภทไหนกันที่ขยายความกฎหมายฉบับหนึ่งให้แลดูน่ากลัวเกินจริง คนประเภทไหนกันที่ปั่นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้คนกลัวเพื่อเป็นแนวร่วมคัดค้าน คนประเภทไหนกันที่ใช้ประโยชน์จากความไม่รู้(และไม่อยากรู้)ทางกฎหมายของประชาชนทั่วไปในการบิดเบือนความจริง คนประเภทไหนกันที่แอบวาระซ่อนเร้นไว้ใต้เสื้อคลุมของสิทธิเสรีภาพ
            คำตอบมีหลากหลาย แต่ที่รวมอยู่ด้วยแน่ๆ ก็คือ (กลุ่ม)คนที่รู้ว่ากำลังทำความผิดตามมาตรา 24 (1)
#
2 พฤษภาคม 2554
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2554)