วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ด้วยใจฝันบินสู่ฟ้า

คนรอบข้างเขารู้กันว่า ผมไม่ชอบละคร ขนาดที่ว่าเคยหลงไปร่วมสังฆกรรมเขียนเรื่องเพื่อทำเป็นละครเรื่องหนึ่ง ก็ยังไม่ยอมไปดูเสียเฉยๆ
            ที่จริงก็ไม่ถึงกับปฏิเสธละคร บางเรื่องที่รู้สึกว่าน่าจะมีอะไรดีๆ ก็ไปดู บางครั้งก็มีแง่มุมดีๆ มาขบมาคิด แต่ก็เพียงดูได้ ไม่ได้ชื่นชอบมากมาย ซึ่งอาจจะด้วยความรู้สึกว่า ละครก็คือละคร มันอาจจะเป็นศิลปะการแสดงที่ยิ่งใหญ่ ต้องใช้ความสามารถอย่างสูง เพราะเมื่อขึ้นไปบนเวที ผิดพลาดอะไรไปก็ไม่มีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ที่มีกระบวนการอีกมากมายช่วยแต่งเติมแก้ไขให้มันสมบูรณ์ขึ้นอีก ก่อนจะนำออกฉายให้ใครๆ ได้ดู แต่ละครทำให้ผมรู้สึกเสมอว่าเป็นการแสดง ขณะที่เทคนิคของภาพยนตร์ให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่า
            “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” เป็นละครเรื่องแรกที่ทำให้ผมชอบได้ โดยไม่ต้องพยายาม และเสียดายที่มีโอกาสได้เขียนถึงเมื่อละครลาโรงไปแล้ว
            นอกเหนือจากเรื่องราวของ ดอน กีโฮเต้ จากวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของ มิเกล เด แซร์บานเตส แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งที่ชักนำผมไปดูละครเรื่องนี้ก็คือ คำพูดของ ยุทธนา มุกดาสนิท ที่ให้สัมภาษณ์บางกอกโพสต์ ก่อนละครจะลงโรงว่า เขารู้สึกผิดหวังเพียงไรต่อภาพยนตร์เรื่อง Man of La Mancha ที่มี ปีเตอร์ โอทูล, โซเฟีย ลอเร็น แสดงนำ และอาร์เธอร์ ฮิลเลอร์ เป็นผู้กำกับ จากบทที่ยึดตามบทละครของ เดล วาสเซอร์มัน ยุทธนาบอกว่า ในความรู้สึกของเขา บทของวาสเซอร์มันเขียนขึ้นสำหรับละคร ไม่ใช่ภาพยนตร์ และความพยายามของหนังที่จะสร้างภาพให้ออกมาสมจริง ได้ไปวางกรอบจำกัดจินตนาการของคนดู
            นักดูหนังยอมรับกันว่า การคงรูปแบบของละครเพลงไว้ในฉากที่เป็นจริง (realism) ของหนังเรื่อง Man of La Mancha เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ และนั่นคือเหตุสำคัญที่นำไปสู่ผล... ความล้มเหลวของหนัง
            ผมจึงอยากได้เห็นเรื่องราวของ ดอน กีโฮเต้ โลดแล่นบนเวทีละครเมืองไทย จากการกำกับของคนที่ใฝ่ฝันจะทำละครเรื่องนี้มาแสนนาน คงไม่ผิด ถ้าจะมีใครบอกว่า “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” คือฝันอันยิ่งใหญ่ของคนหลายคนที่มีส่วนร่วมในละครเรื่องนี้
เสียงปรบมือกึกก้องครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับจะไม่รู้จบ ที่ผู้คนในโรงละครแห่งชาติมอบให้กับบรรดาผู้แสดง วงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร และทุกๆ คนในคณะละคร “สองแปด” เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง เป็นเสียงที่บอกได้ว่า ฝันอันยิ่งใหญ่ของยุทธนา มุกดาสนิท ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ของรัศมี เผ่าเหลืองทอง และของทุกๆ คนที่ร่วมฝัน ได้รับการ “ต้อนรับ ประทับใจทุกคนได้...” เช่นเดียวกับท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงที่ชาลี อินทรวิจิตร เรียงร้อยขึ้นมาจากเพลง The Impossible Dream
            คณะละครสองแปดคงจะรู้เหมือนกับที่คนดูรู้ ว่านี่ยังไม่ใช่ผลงานที่หมดจดสมบูรณ์ คนดูในรอบแรกๆ หลายคนบ่นถึงเสียงร้องและเสียงดนตรีที่ไม่ไปด้วยกัน สุชาติ สวัสดิ์ศรียอมรับว่า มีเวลาซ้อมร่วมกันระหว่างผู้แสดงกับวงดนตรีเพียงสามวันก่อนที่จะเปิดแสดงวันแรก นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะไปลบล้างความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการแสดงได้ แต่มันก็ทำให้เรารับรู้-เข้าใจสถานะของคณะละครอย่างสองแปด สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำก็คือ แก้ไขข้อบกพร่องในรอบต่อๆ มา ซึ่งทั้งนักแสดงและวงดนตรีภายใต้การอำนวยเพลงของ ประทักษ์ ประทีปะเสน ช่วยกันทำได้สำเร็จ สิ่งที่แก้ไม่ได้ก็คือทิศทางของเสียง ซึ่งขาดมิติของเสียงที่จะออกมาทางด้านหน้าเวที ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนจำนวนหนึ่งจะเกิดสงสัยขึ้นมาเมื่อถึงฉากที่ดอน กีโฮเต้ ร้องเพลงแรก ว่าร้องสดหรือเปิดเทป นักแสดงบางคนไม่สามารถทำให้คนดูจับถ้อยคำได้ – แม้จะพอเข้าถึงใจความ – เมื่อเขาหรือเธอร้องเพลง แต่สิ่งเหล่านี้ก็พอจะมองข้ามไปได้เมื่อเทียบกับการออกแบบฉากแนวอิมเพรสชันนิสม์อย่างชาญฉลาด และผลรวมของการแสดง
            จรัล มโนเพ็ชร น่าจะได้เปรียบ ศรัณยู วงศ์กระจ่าง อย่างน้อยสองทาง สำหรับบทดอน กีโฮเต้ ทางหนึ่ง-เขาเป็นนักร้องอาชีพ ละครเพลงต้องการความสามารถทางด้านนี้ อีกทางหนึ่งคือประสบการณ์การแสดง ซึ่งแม้จะเป็นข้อเสียเปรียบในเบื้องต้น แต่ในขณะที่คนดูยังมีภาพของศรัณยู – จากงานการแสดงที่ผ่านมา - ชัดเจนอยู่ในความรู้สึก แม้ว่าศรัณยูจะแสดงได้ดีเพียงไร แต่เขายังเป็นศรัณยูในความรู้สึกของคนดู จรัลไม่มีภาพที่ติดตาแบบนั้น เมื่อเขาหันหลังให้คนดู และกลับออกมาในรูปลักษณ์ของดอน กีโฮเต้ ผมก็ลืมไปสนิทเลยว่าเขาคือจรัล มโนเพ็ชร
            สาธิต ชีวะประเสริฐ ทำให้คนดูประทับใจได้ง่ายๆ กับบท ซันโช ปานซ่า ผู้คอยติดตามดอน กีโฮเต้ ไปทุกหนแห่ง ด้วยเหตุผลเพียงแค่ “ผมชอบเขา” และบทก็ส่งเขาเด่นออกมาเต็มที่ในฉากเพลงนี้ แม้จะมีปัญหาอยู่ไม่น้อยในการร้องเพลงไปพร้อมๆ กับการกลิ้งหมุนไปรอบๆ บทพระซึ่งแสดงโดย ศรัณย์ ทองปาน เป็นธรรมชาติมาก แม้ในขณะที่ร้องเพลงออกมา ดูเหมือนเขาไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย แต่ก็ฟังและดูดี
            ดาราที่แท้จริงบนเวทีคือ นรินทร ณ บางช้าง กับบทอัลดอนซา ที่ชนะใจทุกคน ไม่เฉพาะแต่พลังเสียงซึ่งนักแสดงละครเพลงทุกคนต้องการ การแสดงของเธออาจบอกได้ด้วยคำว่า “เหลือเชื่อ” จากนักร้องเพลงร็อคที่ถูกปลุกปั้นขึ้นมาให้เป็น “มาดอนน่าเมืองไทย” ซึ่งในความรู้สึกของผม – ไม่ใช่ เธอกลายเป็นโสเภณีหยาบกร้านที่ถูกปลุกปล้ำด้วยน้ำมือชายกักขฬะมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสตรีผู้สูงศักดิ์สำหรับดอน กีโฮเต้ นรินทรสวมบทนี้ได้อย่างไม่มีที่ติ ช.อ้น ณ บางช้าง อาจผิดหวังที่ลูกสาวไม่ประสบความสำเร็จในฐานะดาราร็อค แต่ไม่มีอะไรต้องเสียใจในเมื่อเธอได้ “เปล่งประกาย” อย่างสมบูรณ์ในฐานะดาราละคร
ถ้า ดอน กีโฮเต้ คือตัวแทนของผู้ที่มองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่อย่างที่มันเป็นจริงๆ คณะละครสองแปดก็ได้พยายามทำสิ่งเดียวกันนั้นสำหรับวงการละครเมืองไทย อย่างน้อยที่สุด “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” คือประจักษ์พยาน
            เหมือนกับท่อนสุดท้ายของเพลงก่อนไฟเวทีจะหรี่ดับลง “ด้วยความฝัน สู่ดวงดาวพราวพร่าง...ฟ้า” ในความพยายามที่จะทำละครเวทีอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่อย่างที่มันเป็นอยู่บนเวทีละครหลายๆ เรื่องตามโรงแรมหรู คณะละครสองแปดได้นำใจฝันของคนดูบินสู่ฟ้า
            ไม่ใช่ดำดิ่งลงไปท่ามกลางถ้อยคำด่าทอเกลื่อนกล่นเวทีอย่างที่ละครบางเรื่องทำอยู่ตอนนี้
#
 (ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ตาดูหูฟัง" นสพ.สยามรัฐ-ฉบับวันอาทิตย์ พ.ศ. 2530)

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Look Who’s Talking Too (Much)

“เรื่องการเมืองไม่อยากพูดมาก เพราะดาวพุธไม่ดี เดี๋ยวพูดไปแล้วมันมีเรื่อง ดาวพุธไม่ดีเขาบอกว่าห้ามพูดมาก... ดาวพุธไม่ดีไม่พูดแล้ว” คุณทักษิณ (ชินวัตร - ของผม ในฐานะที่ผมเป็นคนอยู่กรุงเทพฯ และท่านเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ในกรุงเทพฯ มากที่สุด) เคยปรารภเอาไว้อย่างน่าเห็นใจ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม (พ.ศ. 2539)
            ก็ต้องเห็นใจกันแหละครับ สำหรับคนรุ่นใหม่ระดับอภิมหาเศรษฐีที่เอาเงินกองเก็บไว้ เสียสละตัวเองมารับใช้ประชาชน แต่กลับต้องมามีปัญหากระทบกระทั่งกับนักการเมืองหน้าเดิมๆ ขนาดที่มีข่าวว่าต้องขอโทษคุณสมัคร (สุนทรเวช – ไม่ใช่ของผม) ในเรื่องทำนองว่านินทากันในบ้าน แล้วไปให้คนอื่นเขาได้ยิน ต้องสัญญิงสัญญากับนายกฯ ว่าจะไม่พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้อีก แล้วยังต้องขออภัยที่ทำให้คุณชวลิต (ยงใจยุทธ – ไม่ใช่ของผมอีกเหมือนกัน) เข้าใจผิดเรื่อง “ทหารพาณิชย์” ทั้งที่แค่พูดไม่กี่คำ จะอะไรกันนักหนา
            ล่าสุด กับการคัดเลือกตัวแทนพรรคพลังธรรมลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลงเอยด้วย ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าฯคนปัจจุบันของพรรคพลังธรรม ไปสมัครอิสระโดยการอุปถัมภ์ของพรรคประชากรไทย ก็ไม่วายที่จะมีคนออกมาพูดว่า ระหว่างคุณทักษิณ กับคุณกฤษฎา ไม่ใครก็ใครสักคนต้องโกหก นั่นยังไม่เท่าไหร่ คนที่พูดเหล่านั้นยังหยอดท้ายอีกว่า ที่จริงคุณกฤษฎาก็พูดชัดเจนมาตลอดว่าจะลงสมัครอีกสมัย
            อย่างนี้ เห็นคุณทักษิณของผมเป็นอะไร?
เพื่อแก้ข้อสงสัย ผมจะลำดับเหตุการณ์การคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคพลังธรรมให้เห็นกันชัดๆ
            วันที่ 1 กุมภาพันธ์ (2539) คุณกฤษฎาบอกว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยหน้า คงต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคพลังธรรมก่อน ซึ่งการพิจารณาของพรรคจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจว่าจะลงสมัครในพรรคใด โดยถ้าทางพรรคได้พิจารณาเรียบร้อยแล้วว่าจะส่งใครเป็นตัวแทนพรรค ก็คงตัดสินใจง่ายกว่านี้ สำหรับความต้องการส่วนตัวที่จะลงสมัครนั้น มีความเต็มใจที่จะบริการประชาชน แต่โอกาสในการที่จะได้บริการประชาชนเป็นคนละเรื่องกับการเป็นตัวแทนของพรรคใดพรรคหนึ่ง
            ต่อมา วันที่ 19 กุมภาพันธ์ คุณกฤษฎาก็ให้สัมภาษณ์อีกว่า ถ้าถามว่ามีความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เพียงไร ก็ขอตอบว่าถ้ามีที่ให้ลงสมัครก็พร้อม และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ คุณกฤษฎาก็เริ่มบ่นว่า หากพรรคพลังธรรมตัดสินใจช้าตนเองคงลำบาก เพราะจะหมดสิทธิ์ที่จะลงสมัครในนามพรรคอื่น และอีกสองวัน 27 กุมภาพันธ์ คุณกฤษฎาก็เริ่มพูดชัดเจนขึ้นว่า ในเมื่อพรรคยังไม่ประกาศออกมาว่าจะส่งใคร ทำไมต้องไปปิดประตูตัวเองด้วยการบอกว่าจะไม่ขอลงอิสระ ควรรักษาสถานภาพเอาไว้ก่อน แม้การลงสมัครอิสระจะลำบากแค่ไหนก็ตาม
            เว้นช่วงไปอีกระยะ วันที่ 12 มีนาคม คุณกฤษฎาตอบคำถามสื่อมวลชนอีกว่า ยังไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่เปลี่ยนสังกัดพรรคในการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยหน้า แล้วในวันที่ 17 มีนาคม คุณกฤษฎายืนยันว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน ในส่วนของพรรคพลังธรรมหลังการประชุมวันที่ 19 คงทราบแน่นอนว่าพรรคจะส่งใครลงสมัคร ส่วนหากไม่ได้รับเลือกจากพรรคแล้วจะลงสมัครในนามอิสระหรือไม่นั้น เห็นว่าการลงสมัครอิสระก็มีความคล่องตัวดี แต่จะเสียตรงที่ไม่มีองค์กรของพรรคมาช่วยหาเสียง
            ผมไม่แย้งหรอกว่า คุณกฤษฎา แสดงเจตจำนงชัดเจนมาเป็นลำดับ แต่สำคัญว่า คุณกฤษฎาได้พูดกับคุณทักษิณหรือเปล่า ยืนยันกับคณะกรรมการบริหารพรรคหรือเปล่าว่าจะลง และในระบบพรรคพลังธรรม ก็รู้อยู่ว่าต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคชี้ขาดว่าจะส่งใคร ไม่ใช่ว่าคุณกฤษฎานึกอยากจะสมัคร พรรคก็ต้องส่งสมัครให้ได้ดั่งใจ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังมี พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 22  พฤษภาคม 2538 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปว่า “ผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อีกแล้ว และจะรอสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.” ซึ่งก็มีคนเที่ยวตีความกันเอาเองตั้งแต่ตอนนั้นว่า คุณจำลอง (ยังไม่ใช่ของผม – รอให้เป็นผู้ว่าฯอีกสมัยก่อน) จะบีบให้คุณกฤษฎาลาออกกลางคันเพื่อจะลงสมัคร แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการลาออก ซึ่งตามตรรกะก็ต้องแปลว่าไม่มีใครบีบคุณกฤษฎา
            นอกจากนั้น คุณจำลองก็พูดมาเสมอว่า ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย ให้พรรคพิจารณาบุคคลอื่นที่เหมาะสมที่สุดก่อน ถ้าไม่มีใครพร้อมก็พร้อมที่จะอาสาเป็นตัวแทนพรรค คนที่ได้ชื่อว่า “มหา” ถือศีลแปด และย้ำเสมอว่าไม่โกหก ไม่จ้วงจาบ ไม่หยาบช้า พูดออกชัดเจนอย่างนี้แล้ว จะหาว่าคุณจำลอง หรือกรรมการบริหารพรรคจะกีดกันไม่ให้คุณกฤษฎาลงสมัครได้อย่างไร
            ประเด็นอยู่ที่ว่า คุณกฤษฎาเหมาะสมที่สุดหรือเปล่า

ถ้าถามอย่างนั้น ก็ต้องมาดูทางคุณทักษิณและพรรคพลังธรรมบ้าง มีรายงานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม คุณทักษิณเดินทางไปอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้ว่าฯกฤษฎา และกล่าวถึงผู้ว่าฯกทม. ว่าเป็นที่จริงใจ มีอัธยาศัยดีเสมอต้นเสมอปลาย และที่ตนเองมีผลงานมาพอสมควรก็เพราะผลงานของผู้ว่าฯกทม.ส่วนหนึ่ง
            หลังจากการประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังธรรม เพื่อพิจารณาส่งตัวแทนพรรคสมัครผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 19 มีนาคม คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ของผมอีกเหมือนกัน) รมช.กระทรวงมหาดไทยและเลขาธิการพรรคพลังธรรมก็บอกว่า “ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้มีความเห็นพ้องกัน มีมติออกมาว่าเรามีผู้มีประสบการณ์อยู่สองท่าน ก็คือท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือง และท่านผู้ว่าฯกฤษฎา ทางกรรมการบริหารพรรคได้เห็นพ้องต้องกันว่าทั้งสองท่านนั้นมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง”
            วันเดียวกัน คุณทักษิณก็พูดทำนองเดียวกันว่า ทั้งคุณจำลองและคุณกฤษฎา “เป็นผู้ใหญ่ที่ทางกรรมการบริหารพรรคมองเห็นว่าเหมาะสมทั้งคู่”
            จะเห็นได้ว่า พรรคพลังธรรมเห็นว่าคุณกฤษฎามีความเหมาะสมมาตลอด เพราะถ้าไม่เหมาะสมก็คงไม่ให้เป็นหนึ่งในสองที่จะให้หัวหน้าพรรคไปเจรจาขั้นสุดท้าย ก่อนสรุปว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนพรรคลงสมัคร แต่การณ์เป็นว่า ในขณะที่คุณทักษิณยังไม่ได้สรุปอะไร และไม่มีใครรู้ว่าคุณทักษิณกับคุณกฤษฎาได้คุยอะไรกัน แต่คุณกฤษฎาก็ได้ออกมาแถลงแล้วว่าจะลงสมัครอิสระโดยมีพรรคประชากรไทยให้การสนับสนุน
            วันที่ 25 มีนาคม คุณทักษิณจึงได้บอกว่า “จริงๆ แล้วผมอยากให้ท่านลง เพราะผู้ว่าฯกฤษฎาพูดกับผมตลอดเวลาว่าจะไม่ลง พูดตลอดเวลา ไม่เคยบอกผมว่าจะลงเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ เมื่อผู้ว่าฯกฤษฎาพูดกับผมมาตลอดเวลาว่าไม่อยากลง ผมถึงพยายามไปตื๊อท่านจำลองมาโดยตลอด ไม่ใช่ว่าท่านจำลองอยากลง ต้องเข้าใจตรงนี้”
            และในการปราศรัยเปิดตัวคุณจำลอง ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2539 คุณทักษิณก็ย้ำอีกว่า “ผมได้คิดกันหลายรอบ พลตรีจำลองบอกว่าพยายามหาคนใหม่ๆ เข้ามาพรรคพลังธรรมมากๆ เพราะพรรคเราจะได้เติบโต แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ว่านั้น ขอให้เก่งด้วย ให้ดีด้วย และต้องมีอุดมการณ์ตรงกับพรรคพลังธรรม ผมก็ไปหา ผมพยายามคุยกับผู้ว่าฯกฤษฎาของผม ถามว่า เอาจริงๆ เถอะ ท่านจะลงหรือไม่ลงท่านก็บอกว่า ผมไม่ลงหรอกครับ ฯพณฯท่านสบายใจได้ ผมไม่ลงแน่นอน ถามอยู่สิบกว่าครั้งก็บอกไม่ลง”
            ไม่ว่าคุณกฤษฎาจะเคยพูดกับสื่อไว้อย่างไรก็ตาม แต่การที่คุณกฤษฎาไม่ได้ออกมาโต้แย้งเลยว่าไม่เคยพูดอย่างนั้น (อย่างที่คุณทักษิณเล่า) เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเชื่อคุณทักษิณ ถ้าตรรกะแค่นี้ยังไม่พอที่จะเชื่อ ลองฟังคุณทักษิณกันต่อ “แหม... รองนายกฯ ฟังผู้ว่าฯกทม.พูด ไม่เชื่อได้อย่างไร ก็ต้องเชื่อ อย่างไรก็ต้องเชื่อ”
            ครับ ประชาชนอย่างเราๆ ฟังรองนายกฯพูด ไม่เชื่อได้อย่างไร ก็ต้องเชื่อ
แล้วคุณทักษิณก็เล่าต่อไปว่า “ผมก็รีบไปหาคนใหม่ทันทีเลย ไปหาหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ เป็นนักบริหาร โอ้โห... แต่ละคนก็สนใจมาก แต่ปรากฏว่าฤกษ์งามยามดี ปี่กฏว่าวันที่ 21 มีนาคม ผู้ว่าฯกฤษฎาบอกผมว่า ไปแล้ว ไปประชากรไทย’ ผทบอกว่า ‘เปลี่ยนพรรคการเมืองโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์หรือ’ ก็ไม่เป็นไร พรรคพลังธรรมของผม อุดมการณ์ การรับใช้ประชาชนมาก่อน สำคัญที่สุด”
ฟังคุณทักษิณแล้วก็ต้องชื่นชมว่า ทั้งๆ ที่คุณกฤษฎาไม่ได้แสดงความจำนงกับคุณทักษิณว่าจะลงสมัคร พรรคพลังธรรมก็ยัง “ให้เกียรติ” ว่าเป็นผู้ที่เหมาะสม และยังมอบหมายให้หัวหน้าพรรคไปเจรจาตามมติกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ทั้งที่คุณทักษิณจะแจ้งที่ประชุมไปเลยก็ได้ว่า คุณกฤษฎาเคยบอกว่าไม่อยากลงสมัคร (เพราะคุณกฤษฎา “ต้อง” พูดอย่างนี้ก่อนหน้านั้นแล้วแน่ๆ เพราะจากวันที่ 19 ที่มีการประชุมพรรค จนถึงวันที่ 21 ที่คุณกฤษฎาประกาศตัวสมัครอิสระ คุณทักษิณคงไม่ถามซ้ำซากอยู่สิบกว่าครั้งในเวลาเพียงสองวันหรอก) และทั้งที่ผลงานสี่ปีในตำแหน่งของคุณกฤษฎาก็ไม่ประทับใจชาวพลังธรรม เหมือนที่คุณทักษิณได้แย้มออกมาในวันที่ 25 มีนาคม หลังจากที่คุณกฤษฎาแยกวงไปแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า “ท่านรองฯลำบากใจหรือเปล่าในการประสานงานต่อไประหว่างท่านกับผู้ว่าฯกฤษฎา อาจจะทำให้นโยบายของท่านที่จะผลักดันเรื่องต่างๆ ใน กทม. ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร” ซึ่งคุณทักษิณตอบว่า “ความจริงมันไม่ราบรื่นมาพักใหญ่ๆ แล้ว”
อาจจะมีคนแย้งว่า เอ๊ะ ไม่เห็นจะเหมือนที่ไปพูดอวยพรวันเกิดคุณกฤษฎาเมื่อสิบกว่าวันก่อนหน้านั้นเลย ไม่เห็นจะเหมือนที่พรรคบอกว่าคัณกฤษฎาเหมาะสมเลย
อันนี้ผมตอบแทนให้ก็ได้ว่า เป็นเรื่องของมารยาทและการให้เกียรติกันน่ะ เข้าใจไหม?
ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ “ต้อง” เป็นอย่างที่คุณจำลอง ศรีเมือง พูดที่เดอะมอลล์ในวันเปิดตัว
            “กรุงเทพฯ หลังจากที่ผมหมดหน้าที่นี้ไปแล้ว ไปเป็น ส.ส. ไปเป็นรองนายกฯนั้น กรุงเทพฯสภาวะต่างๆ มันทรุดลงมากทีเดียว ต่างกันอย่างเห็นเด่นชัดเลย แล้วถ้าท่านเคยเป็นคนอาสาเข้ามาครั้งหนึ่ง มาทำงาน แก้ไขปัญหาให้ได้ จนกระทั่งได้ผลดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันน้ำท่วม การรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การแก้ไขปัญฆาจราจร ในความรับผิดชอบของคนกรุงเทพมหานคร แล้วท่านจะนั่งดูดายอยู่เฉยๆ ที่บ้านได้ไหมถ้าไม่อาสาเข้ามาคราวนี้”
            ฉะนั้น เลิกคิดเถอะครับว่าใครจะโกหก คุณทักษิณของผมรู้อยู่เสมอว่าท่านพูดอะไร วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ท่านก็พูดออกจะชัดเจน “คนเราเวลาทำอะไรไป เราต้องมีเหตุผลในการทำ ไม่ใช่เสียสติ ที่ทำอะไรไปแล้วไม่มีเหตุผล ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ตัว ถ้าเรามีสติเรารู้ว่าเราพูดอะไรไป ทำอะไรไป เขาถามกันเราก็ต้องคุยกัน ก็ต้องมีเหตุผลอธิบายได้ ผมไม่ได้คิดร้ายประสงค์ร้ายกับใคร และไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นเลวแล้วผมดี ไม่ได้คิดอย่างนั้นเลยจริงๆ”
            ฟังอย่างนี้แล้วก็ไม่ควรเคลือบแคลงสงสัยด้วยประการ เรื่องที่น่าสงสัยจริงๆ เห็นจะเป็นเรื่องของดาวพุธมากกว่า ที่ทำให้คุณทักษิณพูดอะไรทีเป็นต้องมีคนคอยจับผิดอยู่ร่ำไป
            เพียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นดาวพุธที่โคจรผ่าน หรือเป็นดาวพุธกุมลัคนา?
#

(ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ยิ้มทั้งน้ำตา" นิตยสาร สีสัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2539)

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บุกบ้านบรรณ

บรรณ สุวรรณโณชิน น่าจะเป็นนักเพลงที่อยู่ใกล้ชิดผมมากที่สุด
            ในแง่ที่ว่า พอผมเลี้ยวซ้ายออกจากปากซอยบ้าน เลียบคลองประปาไปสอง-สามอึดใจ เลี้ยวซ้ายอีกทีที่หัวมุมกระทรวงการคลัง ตรงไปอีกนึดนึงก็ถึงซอยบ้านเขาแล้ว
            เมื่อเห็นเขาบ่นผ่าน Facebook ว่า เสร็จลงจนได้ อัลบั้มนี้เหนื่อยอิ๊บอ๋าย” ผมก็นึกอยากฟังขึ้นมา และทางที่เร็วที่สุดโดยไม่รบกวนใคร ก็คือ ไปฟังที่บ้านของบรรณ
“อัลบั้มนี้” ของบรรณ หมายถึง “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี เป็นทริบิวต์อัลบั้มที่คัดสรรเพลงของวงดนตรีที่เป็นตำนานเพลงโฟล์ค มาทำใหม่ในสไตล์ Bun-Bun
            ทำไมถึงเป็น “ชาตรี” ผมถามทั้งที่มีคำตอบอยู่ในใจว่า คงเป็นเพราะคนรุ่นเขาเองโตมากับเพลงของวงนี้ และชาตรีก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาจับกีตาร์ แต่คำตอบที่มากกว่านั้นก็คือ ยังมีงานของศิลปินอีกมากที่เขาอยากทำ อย่างเช่น สุรพล สมบัติเจริญ, ดิ อิมพอสสิเบิ้ล, แกรนด์เอ็กซ์ เพียงแต่โอกาสในการทำเพลงชาตรีมาถึงก่อน “แฟนคลับชาตรีส่วนหนึ่งเป็นแฟนเพลงของเราด้วย ก็สนับสนุนกัน เรื่องลิขสิทธิ์เพลงก็เคลียร์กันได้หมด”
            ลิขสิทธิ์เพลงไทยเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าปวดหัว เรามีลิขสิทธิ์เพลงเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนเขียนเนื้อร้อง คนแต่งทำนอง แต่บ่อยครั้งที่โครงสร้างทางธุรกิจบิดเบือนกรรมสิทธิ์ตรงนี้ไปในรูปรอยและวิธีการต่างๆ กันในแต่ละยุค
            ในกรณีของ “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี การ “เคลียร์” ยังหมายถึงค่าลิขสิทธิ์เพลงที่ค่ายเพลงเล็กๆ สามารถจ่ายได้ “ถ้าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงละสามหมื่นห้าหมื่นก็ไม่ไหว” คูณสิบเข้าไป การแบกต้นทุนค่าเพลง 300,000 บาทเป็นอย่างน้อยต่อหนึ่งอัลบั้ม โดยที่ยังไม่ได้เริ่มคำนวณต้นทุนอะไรอื่นเลย ไม่เพียงแต่เกินความสามารถที่ค่ายเพลงเล็กๆ จะแบกรับ การปรับตัวหลายๆ ระลอกของบริษัทมหาชนในยุคดิจิทัลดาวน์โหลดก็สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจดนตรีปัจจุบันได้หลายแง่มุม
            การที่บรรณประคอง “ใบชาซอง” ของเขามาได้หลายปี ก็โดยการทำทุกอย่างที่ทำได้ด้วยตัวเอง เขาแต่งเพลงเอง เรียบเรียงเอง โพรดิวซ์เอง เล่นเอง(บางส่วน) ร้องเอง(บางเพลง/บางชุด) และบันทึกเสียงในสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเอง ผมขอให้เขาคำนวณยอดขายที่ช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคนี้ บรรณเคาะออกมาที่ 3,000 แผ่นต่ออัลบั้ม ซึ่งไม่มากเลยทั้งจำนวนชุดและจำนวนเงินที่กลับมา
            แต่จะทำอย่างไร ถ้าคุณขายได้แค่ 500 แผ่น?
บรรณ สุวรรณโณชิน ในสตูดิโอ (ที่บ้าน)

งานของบรรณอยู่ในกลุ่มงานเพลงที่ “ไม่ขาย” มาตั้งแต่อัลบั้ม “บราซิล” ที่ออกกับอาร์เอส
            แม้แต่อัลบั้ม “สำนวนสวนสัตว์” ในปี 2548 ที่เปิดทางให้เขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางครั้งแรก พร้อมด้วยเสียงชื่นชมมากมาย กับอีกหลายรางวัลที่ได้รับ ก็มียอดขายเพียง 500 แผ่น ในตอนที่บริษัทจัดจำหน่ายเริ่มเก็บแผ่นออกจากตลาด โดยมียอดคืนสูงกว่ายอดขาย 9 เท่า
            แต่นั่นก็เป็นการพิสูจน์คน กับความหมายมั่นที่มี บรรณยังออกผลงานต่อมาทุกปี แต่มียอดผลิตที่ลดลงตามลำดับ จนมาถึงโครงการนำเสนอคุณแม่ยาย “สวีทนุช” ในอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ปี 2551 บริษัทจัดจำหน่ายบอกว่า “300 ก็พอ” แต่อัลบั้มที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิงนี้ กลับประสบความสำเร็จใหญ่โต กลายเป็นอัลบั้มหาซื้อยากโดยไม่ต้องมีใครปั่นกระแส เพราะแผ่นที่ผลิตออกมาทั้งหมดมีเพียง 500 แผ่น
            สุดท้าย เมื่อซัพพลายสมดุลกับดีมานด์ ยอดขายก็ไปถึงหลักหมื่น และเปิดพื้นที่ให้ใบชาซองได้มีที่ทางของตัวเองอยู่ในธุรกิจดนตรี
            ในความผกผันระหว่าง “สำนวนสวนสัตว์” มาถึง “สวีทนุช” บรรณเรียนรู้หลายอย่าง หนึ่งคือ การแจกแผ่นไปตามรายการวิทยุ ตอนทำ “สำนวนสวนสัตว์” เขาวิ่งหว่านไปเท่าไร ก็แทบไม่มีใครเปิดออกอากาศ แต่กับ “สวีทนุช” รายการมากมายที่ไม่เคยเปิดเพลงของใบชาซองมาก่อน และเขาก็ไม่มีกะใจจะเอาไปแจกแล้ว กลับหามาเปิดกันจนได้
ช่องทางจัดจำหน่ายก็เป็นปัญหาใหญ่ ค่ายเล็กกับงานที่ขายได้จำกัด มีพื้นที่และเวลาวางอัลบั้มอย่างจำกัด กว่าที่การขานรับของสื่อที่เดินทางช้าอย่างนิตยสาร และการบอกต่อของแฟนเพลงจะช่วยกระจายความสนใจออกไป บ่อยครั้งที่รอบการเก็บแผ่นคืนมาถึงเสียก่อน สิ่งที่บรรณได้เรียนรู้ต่อมาก็คือ ร้านซีดีที่เปิดรับงานชุดย้อนหลังของเขาเป็นช่องทางการขายที่สำคัญ และเขาก็เริ่มโฟกัสตลาดชัดเจนขึ้น โดยข้อมูลที่สะท้อนจากช่องทางการขายเหล่านี้ ควบคู่ไปกับช่องทางสื่อสารกับคนฟังเพลงผ่านทางเว็บไซต์ www.baichasong.com และเฟซบุ๊ค
นั่นก็คือที่มาของการทำ “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี ที่จะพึ่งพาระบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบน้อยลง และเปิดการขายตรงด้วยรูปแบบ Limited Edition จำนวน 999 ชุด ในราคา 650 บาท ซึ่งผมคงบอกไม่ได้ว่าถูก แต่เท่าที่เห็นบางส่วนของแพ็คเกจพิเศษที่ยังไม่เสร็จดี ก็เห็นความตั้งใจของคนทำที่จะให้เป็นงานสะสมที่มีคุณค่าในตัวเอง
แต่เราซื้อซีดีเพื่อฟังเพลงเป็นอย่างแรกนี่นา...
เป็นธรรมดาที่โพรดิวเซอร์จะเลือกเพลงในมุมมองของเขา บรรณเลือกเพลงของชาตรีโดยไม่มีเพลงอย่าง “จากไปลอนดอน” หรือ “แฟนฉัน” ด้วยเหตุผลว่า “ช้ำ” ซึ่งทำให้ “ทำยาก”
            สิ่งที่ผมรู้สึกตั้งแต่ฟัง “สำนวนสวนสัตว์” ก็คือ บรรณเป็นคนมีไอเดีย และตั้งใจทำงาน ส่วนของไอเดียที่สะท้อนในการทำทริบิวต์อัลบั้มเพลงของชาตรี คือการเรียบเรียงดนตรีออกมาหลากหลายลีลา เขาให้ สวีทนุชร้อง “รักครั้งแรก” ในจังหวะแทงโก้ ตัวเขาเองร้อง “เธอเปลี่ยนใจ” ในสไตล์บอสซาโนวา กับ “อย่าลืมฉัน” ในแนวพ็อปเนียนๆ และร้อง “รักต้องตอบด้วยรัก” คู่กับอุ๊บอิ๊บส์ ในแนวโฟล์คง่ายๆ ตัวอุ๊บอิ๊บส์ร้องอีกเพลง “เข้าใจรัก” ที่ตั้งใจทำแนวอิเล็กทรอนิกส์บางๆ ที่เป็นลูกทุ่งจากเสียงของเบิร์ด ธรรมรัตน์ กับกุ๊ก อรสุรางค์ ก็ได้พลิกอารมณ์ไปเป็นลูกทุ่งจริงๆ
            แต่ไอเดียก็ดูจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ผมเข้าใจว่าบรรณจำเป็นต้องจัดสมดุลระหว่างแนวดนตรีตามไอเดียของเขา กับข้อจำกัดของนักร้องที่เขามี ได้ยินเขาเปรยๆ อยู่เหมือนกันว่ามีนักร้องอีกสามคนที่น่าจะได้มาร่วมร้องในอัลบั้มนี้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าบางเพลงในส่วนที่ร้องโดยคนใกล้ชิดมีการปรับหาจุดลงตัวบางอย่างกับแนวดนตรีที่น่าจะเป็น
            แต่กับนักร้องรับเชิญสามคน เหมือนกับบรรณมีภาพชัดแต่แรกแล้วว่า ใครเหมาะที่จะร้องเพลงไหน ในลีลาใด แล้วมันก็ออกมาสมบูรณ์ทีเดียว ทั้ง สายชล ระดมกิจ กับ “ที่รักอย่าจากพี่ไป” ในลีลาดิอินโนเซ้นท์ บี๋ คณาคำ อภิรดี กับอารมณ์ซึ้งใน “เหมือนฝัน” และความเบิกบานของสุเมธ องอาจ ในเพลง “ทะเลของเรา
            ศิลปินรับเชิญอีกคนคือ ชีพชนก ศรียามาตย์ ไม่ได้มาร้องแต่มาเดี่ยวกีตาร์เพลง “เหมือนฝัน” ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงที่มีแต่ในชุด Limited Edition เท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟังอาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นไร แต่ผมได้ฟังแล้ว เสียดายเหมือนกันที่แผ่นวางขายทั่วไปจะไม่มีเพลงนี้รวมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเพลงบรรเลง “ใบชาตรี” ที่บรรณแต่งขึ้นใหม่ในสไตล์ของชาตรี
            ส่วนที่สะท้อนถึงความตั้งใจทำงาน คือ รายละเอียดของงานในแต่ละองค์ประกอบ และคุณภาพงานโดยรวม ตั้งแต่คุณภาพเสียงและการบันทึกเสียง การมิกซ์และทำมาสเตอร์ การออกแบบปกและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำให้งานที่ออกมาในนามใบชาซอง มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และวางใจได้มาตลอดหลายปี
            คำว่า “วางใจได้” มีความสำคัญมากในตลาดเพลงระดับออดิโอไฟล์ งานที่ผ่านมาของบรรณ เป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันมากขึ้นเป็นลำดับในคนฟังเพลงจากเครื่องเสียงชั้นดี ที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีพอๆ กัน (หรือมากกว่า) เพลงที่ชอบ และบรรณก็ใช้ช่องทางงานแสดงเครื่องเสียงที่จัดกันหลายราย ปีละหลายครั้ง เป็นช่องทางการขายและสร้างฐานแฟนเพลงในตลาดนี้ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ
            แม้จะต้องแลกกับเสียงบ่นว่า “เหนื่อยอิ๊บอ๋าย” ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ต้องแบกรับความคาดหวังเรื่องคุณภาพเสียงจากคนฟังกลุ่มนี้ แต่เมื่อถามไถ่ต่อไป บรรณบอกว่าเป็นงานเหนื่อยที่มีความสุข
            การทำงานอาจจะยากขึ้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำอยู่แล้ว
#
2 มีนาคม 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2554)